QTC คาดรายได้ปี 56 ทะลุพันลบ./สรุปแผนลงทุน รง.ผลิตหม้อแปลงในลาว มี.ค.

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday March 19, 2013 16:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพูลพิพัฒน์ ตันธนสิน ประธานคณะกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการ บมจ.คิวทีซี เอนเนอร์ยี่(QTC)กล่าวว่า บริษัทคาดการณ์รายได้ในปี 56 มีโอกาสเติบโตมากกว่า 1,000 ล้านบาท จากการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและปรับปรุงเครื่องจักรและซื้อเครื่องจักรใหม่ที่ใช้ระบบอัตโนมัติมากขึ้น ส่งผลให้มียอดขายเพิ่มขึ้นจนเลยจุดคุ้มทุน อีกทั้งบริษัทมีค่าใช้จ่ายคงที่อยู่แล้วจากจำนวนพนักงานที่มีอยู่ 180 คน ทำให้กำไรขั้นต้นปรับเพิ่มขึ้น

ในปีนี้บริษัทได้มีการปรับงบลงทุนเป็น 60 ล้านบาท จากเดิมที่ตั้งไว้ 50 ล้านบาท โดยนำมาใช้ในการพัฒนาเครื่องมือและเครื่องจักรให้มีประสิทธิภาพในขบวนการการผลิต เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตให้มากขึ้น

ด้านผลประกอบการในไตรมาส 1/56 ที่แม้ว่าจะมียอดขายต่ำที่สุดของทุกปี แต่ก็คาดว่าจะออกมาดีกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเพิ่มขึ้นประมาณ 30-40% จากไตรมาส 1/55 ที่มีรายได้ 121 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม บริษัทจะรักษาระดับรายได้ให้ใกล้เคียงเป้าหมายในแต่ละไตรมาสให้อยู่ที่ 250 ล้านบาท/ไตรมาส เพื่อบรรลุเป้าหมายรายได้ที่ตั้งไว้ที่ 1,000 ล้านบาท

สำหรับงานในมือ(Backlog) ณ สิ้น มี.ค. 56 คาดว่ามีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท หลังจากบริษัทได้รับงานใหม่จากโรงไฟฟ้าหงสาที่ดำเนินงานโดย บมจ.บ้านปู (BANPU) โดยบริษัทได้รับงานมูลค่าราว 40 ล้านบาท และคาดว่าจะส่งมอบงานได้ในช่วงปลายปี 56 ถึงต้นปี 57

นายพูนพิพัฒน์ กล่าวว่า บริษัทยังอยู่ระหว่างการรอเซ็นสัญญาสร้างโรงงานผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าในลาว คาดว่าภายในสิ้นเดือน มี.ค.56 จะมีข้อสรุปที่ชัดเจน และหลังจากเซ็นสัญญาเสร็จเรียบร้อยแล้วจะเริ่มดำเนินงานคาดว่าใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 6 เดือนจึงแล้วเสร็จและพร้อมเปิดเดินเครื่องได้ โดยใช้เงินลงทุนในการก่อสร้างไม่เกิน 30 ล้านบาท

บริษัทประเมินรายได้ในโรงงานผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าที่ลาวอยู่ที่ 100 ล้านบาท/ปี เนื่องจากเป็นโรงงานผลิตหม้อแปลงแห่งเดียวในประเทศลาวและเป็นแบรนด์ของบริษัทเอง โดยบริษัทถือหุ้นในสัดส่วน 85% และมีพันธมิตรในลาวถือหุ้น 15% ทุนจดทะเบียนอยู่ที่ 20-30 ล้านบาท และการตั้งโรงงานผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าที่ลาวมีอัตรากำไรที่ดีกว่าการส่งสินค้าเข้าไปขายที่ลาว เนื่องจากไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า 15%

ส่วนความคืบหน้าการลงทุนในโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาด 10 เมกกะวัตต์ ที่จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยร่วมกับ 3 พันธมิตรใหญ่ มูลค่าโครงการกว่า 1,000 ล้านบาทนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบโรงงาน (Master Plan) เพื่อนำมาคำนวณต้นทุนในการก่อสร้าง โดยคาดว่าจะใช้ระยะเวลา 1 เดือน และใช้เวลาก่อสร้าง 8 เดือนหลังจากได้ข้อสรุปที่ชัดเจน ซึ่งมีโอกาสขยายเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ