ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถเปิดประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงทั้ง 4 เส้นทางพร้อมกัน ได้แก่ กรุงเทพ-เชียงใหม่, กรุงเทพ —หนองคาย, กรุงเทพ-หัวหิน และ กรุงเทพ — ระยอง ในไตรมาส 4 ปี 56 หลังจากที่พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 2.2 ล้านล้านบาท ผ่านสภาผู้แทนราษฎร
ขณะที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม กล่าวหลังการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโครงการรถไฟความเร็วสูงว่า ได้สั่งกำชับให้การออกแบบสร้างทางต้องคำนึงถึงทางลอดและพื้นที่น้ำท่วมถึง โดยต้องแจ้งให้คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำ(กบอ.)ทราบ รวมทั้ง เส้นทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอก เพราะเส้นทางรถไฟความเร็วสูงมีทั้งยกระดับ และทางบนดิน
ในวันพรุ่งนี้ได้นัดหารือกับ บมจ.ทางด่วนกรุงเทพ(BECL)เพื่อทำความเข้าใจในการสร้างทางรถไฟความเร็วสูงที่จะซ้ำซ้อนพื้นที่ที่จะสร้างทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอก ที่ BECL ได้สัญญาสัมปทานและกำลังก่อสร้างอยู่
รมว.คมนาคม คาดว่า จะเปิดประมูลรถไฟความเร็วสูงได้พร้อมกันทั้ง 4 เส้นทางในไตรมาส 4/56 โดยเส้นทางกรุงเทพ-หนองคาย และ กรุงเทพ-พิษณุโลก(ระยะแรกกรุงเทพ-เชียงใหม่) ได้ยื่นทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) แล้ว ขณะที่เส้นทางกรุงเทพ-เชียงใหม่ กำลังดูเส้นทางจาก 5 แนว แต่ละแนวก็มีข้อดีข้อเสียต่างกัน ส่วนเส้นทางกรุงเทพ-หนองคาย ไม่กังวลแล้ว มีทั้งทางยกระดับและบนดิน
สำหรับระบบรถไฟความเร็วสูง คาดว่าจะเปิดประมูลในไตรมาส 3/56 โดยขณะนี้มี 5 ประเทศที่สนใจเข้าประมูล ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ฝรั่งเศส และ สเปน ซึ่งสองประเทศในยุโรปเป็นบริษัทเอกชน ส่วนจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี มาเสนอร่วมเดินรถ ทั้งนี้ รัฐบาลจะเลือกรายเดียวสำหรับการเดินรถ 4 เส้นทาง