ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร TRT ที่ 'BBB+/Stable'

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday March 21, 2013 13:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ.ถิรไทย(TRT) ที่ระดับ “BBB+" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่"

อันดับเครดิตสะท้อนถึงความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าภายในประเทศ ตลอดจนความสามารถในการผลิตหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังและหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่ายที่มีกำลังไฟฟ้าและแรงดันไฟฟ้าที่หลากหลาย รวมทั้งความได้เปรียบในการแข่งขันจากการมีสัญญาการใช้ลิขสิทธ์ของ Siemens Transformers Austria GmbH & Co KG (Siemens) จากประเทศออสเตรียซึ่งช่วยสนับสนุนบริษัทในการเข้าสู่ตลาดใหม่ ๆ

นอกจากนี้ การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงแนวโน้มการเติบโตของความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศและศักยภาพการเติบโตในตลาดส่งออกด้วย อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากความเสี่ยงที่รายได้ของบริษัทต้องพึ่งพิงกลุ่มลูกค้ารัฐวิสาหกิจการไฟฟ้า รวมถึงการพึ่งพาตัวแทนจำหน่ายในต่างประเทศสำหรับตลาดส่งออก และภาวะการแข่งขันที่ทวีความรุนแรง ความสามารถในการแข่งขันของบริษัทในระยะกลางขึ้นอยู่กับประโยชน์ที่บริษัทจะได้รับจากการเพิ่มอัตราภาษีศุลกากรนำเข้าหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังและความต่อเนื่องของสัญญาการใช้ลิขสิทธิ์ของ Siemens

ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่าบริษัทจะยังคงรักษาความสามารถในการแข่งขันและสามารถปรับเพิ่มอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงาน จากการที่ตลาดมีความผันผวนสูงขึ้น บริษัทควรสำรองสภาพคล่องทางการเงินเอาไว้ให้เพียงพออยู่เสมอ ความสามารถในการทำกำไรและกระแสเงินสดที่ลดลงซึ่งหากยังคงดำรงอยู่ต่อไปอีกจะส่งผลลบต่อความน่าเชื่อถือของบริษัท

TRT ก่อตั้งในปี 2530 และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (Market for Alternative Investment - mai) ในเดือนพฤษภาคม 2549 โดย ณ เดือนธันวาคม 2555 นายสัมพันธ์ วงษ์ปาน ซึ่งดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการและคณะผู้บริหารหลักเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทในสัดส่วนรวมกัน 32% บริษัทเป็นหนึ่งในผู้ผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าในประเทศจำนวน 2 รายที่ผลิตทั้งหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังและหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่าย ผลิตภัณฑ์ของบริษัทครอบคลุมทั้งหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังที่มีกำลังไฟฟ้าสูงสุด 300 เมกะโวลต์แอมแปร์ที่แรงดันไฟฟ้าสูงสุด 230 กิโลโวลต์และหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่ายที่มีกำลังไฟฟ้าตั้งแต่ 1 กิโลโวลต์แอมแปร์ถึง100 เมกะโวลต์แอมแปร์ที่แรงดันไฟฟ้าสูงสุด 36 กิโลโวลต์

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาบริษัทได้ขยายการดำเนินธุรกิจ โดยในปี 2554 บริษัท ถิรไทย อี แอนด์ เอส จำกัด (E&S) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทถือหุ้นทั้งหมดได้เริ่มธุรกิจประกอบและจำหน่ายรถไฮดรอลิกโดยมีรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าเป็นกลุ่มลูกค้าหลัก และในช่วงเดือนตุลาคม 2555 บริษัทได้ซื้อหุ้น 85% ใน บริษัท แอล. ดี. เอส. เมทัล เวิร์ค จำกัด (LDS) ซึ่งเป็นผู้ผลิตเหล็กขึ้นรูป ผลิตภัณฑ์ของ LDS ประกอบด้วย ถังหม้อแปลงไฟฟ้า ชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่ทำจากเหล็ก และเตาอาบสังกะสี เป็นต้น LDS เป็นหนึ่งในผู้จัดจำหน่ายถังหม้อแปลงไฟฟ้ารายใหญ่ให้แก่บริษัท การซื้อกิจการของ LDS ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อขยายกำลังการผลิตของ LDS เพื่อตอบสนองต่ออุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งหม้อแปลงไฟฟ้ากำลัง

รายได้รวมของบริษัทในปี 2555 มาจากยอดขายหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังและหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่ายอย่างละ 41% โดยรายได้จากบริษัทย่อย 2 แห่งคิดเป็น 10% สัดส่วนดังกล่าวคาดว่าจะเพิ่มเป็น 15% ของรายได้รวมของบริษัทเมื่อบริษัทย่อยดังกล่าวสามารถดำเนินการผลิตได้เต็มประสิทธิภาพ บริษัทมีความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของลูกค้ารายใหญ่ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้า 3 รายซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของรายได้ทั้งหมดโดยเฉลี่ย ในปี 2555 ฐานลูกค้าของบริษัทประกอบด้วยกลุ่มรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้า (34% ของรายได้รวม) บริษัทเอกชน (34%) และลูกค้าภาคการส่งออก (14%) ลูกค้าในกลุ่มรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้ายังคงเป็นผู้ใช้หม้อแปลงไฟฟ้ารายสำคัญเนื่องจากมีภารกิจหลักในการพัฒนาระบบผลิตและระบบสายส่งไฟฟ้าของประเทศ ซึ่งลูกค้ากลุ่มนี้มีความน่าเชื่อถือเป็นที่ยอมรับเนื่องจากเป็นหน่วยงานของภาครัฐ

สำหรับธุรกิจหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังนั้น บริษัทเป็น 1 ในผู้ผลิตทั้งสิ้น 4 ราย และเป็น 1 ใน 2 รายที่สามารถผลิตหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังที่มีกำลังไฟฟ้า 300 เมกะโวลต์แอมแปร์ด้วยแรงดันไฟฟ้า 230 กิโลโวลต์ การแข่งขันในตลาดหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังมีความรุนแรงน้อยกว่าหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่ายเนื่องจากรูปแบบทางวิศวกรรมที่มีความซับซ้อนมากกว่า กลุ่มผู้ใช้หม้อแปลงไฟฟ้ากำลังเป็นกลุ่มลูกค้าในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงหรือธุรกิจที่ต้องใช้หม้อแปลงไฟฟ้าที่มีการออกแบบทางวิศวกรรมโดยเฉพาะ ดังนั้น ความน่าเชื่อถือและคุณภาพจึงเป็นคุณสมบัติที่สำคัญสำหรับหม้อแปลงไฟฟ้ากำลัง ผลงานของผู้ผลิตและประวัติการดำเนินงานจึงเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นในการตัดสินใจซื้อ

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ตลาดหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังมีการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นเนื่องจากการเข้ามาของผู้ผลิตจากประเทศจีนที่มีลิขสิทธิ์จากต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม การแข่งขันคาดว่าจะลดความรุนแรงลงเนื่องจากการเพิ่มอัตราภาษีศุลกากรนำเข้าหม้อแปลงไฟฟ้าตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน 2555 ภายใต้อัตราภาษีใหม่ การนำเข้าหม้อแปลงไฟฟ้าที่มีกำลังไฟฟ้าระหว่าง 200-300 เมกะโวลต์แอมแปร์จะเสียภาษีนำเข้าในอัตราเพิ่มขึ้นจาก 1% เป็นอัตรา 10% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์

ความสามารถในการแข่งขันของบริษัทส่วนหนึ่งเนื่องมาจากการมีสัญญาการใช้ลิขสิทธิ์จากทาง Siemens ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ซึ่งทาง Siemens จะช่วยสนับสนุนในเรื่องการออกแบบผลิตภัณฑ์และเป็นแหล่งอ้างอิงในตลาดหม้อแปลงไฟฟ้ากำลัง สัญญาฉบับปัจจุบันจะสิ้นสุดในปี 2557 ทั้งนี้ คาดว่าบริษัทจะสามารถต่ออายุสัญญาซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันโดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดส่งออกใหม่ ๆ สำหรับหม้อแปลงระบบจำหน่ายนั้นปัจจุบันมีคู่แข่งในประเทศมากกว่า 20 ราย อย่างไรก็ตาม บริษัทเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่มีความสามารถในการผลิตสินค้าที่หลากหลายและมีส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นอันดับ 3 เมื่อพิจารณาจากรายได้ในปี 2554

ยอดรับคำสั่งซื้อของบริษัทเพิ่มขึ้น 90.5% เป็น 2,137 ล้านบาทในปี 2554 จาก 1,122 ล้านบาทในปี 2553 ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัย 2 ประการคือ ยอดคำสั่งซื้อที่คงค้างจากโครงการอุตสาหกรรมที่เคยถูกระงับในเขตมาบตาพุดและความวุ่นวายทางการเมืองที่ลดลง ส่งผลให้รายได้ในปี 2554 เท่ากับ 1,855 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24.3% จาก 1,492 ล้านบาทในปี 2553

อย่างไรก็ตาม ยอดคำสั่งซื้อลดลง 7.9% ในปี 2555 เท่ากับ 1,968 ล้านบาทเนื่องจากความล่าช้าในโครงการของรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าจากเหตุอุทกภัยครั้งใหญ่ในช่วงปลายปี 2554 รวมทั้งการเลื่อนคำสั่งซื้อของลูกค้าภาคเอกชนและลูกค้าภาคการส่งออก ส่งผลให้รายได้จากการจำหน่ายหม้อแปลงไฟฟ้าและบริการลดลง 6.2% เท่ากับ 1,724 ล้านบาทในปี 2555 จาก1,838 ล้านบาทในปี 2554

แต่เมื่อรวมกับรายได้จากบริษัทย่อย 2 แห่ง รายได้รวมของบริษัทเติบโต 3.6% เมื่อเทียบกับปีก่อน ณ สิ้นปี 2555 บริษัทมียอดขายที่รอการส่งมอบจำนวนมากถึง 1,241 ล้านบาท ทั้งหมดมีกำหนดส่งมอบภายในปี 2556 ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2556 บริษัทอยู่ระหว่างการประมูลโครงการที่มีมูลค่ารวมประมาณ 7,000 ล้านบาท จากประวัติที่ผ่านมาบริษัทจะมีอัตราความสามารถในประมูลสำเร็จประมาณ 20-25%

ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทในปี 2555 ลดลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยอัตราส่วนกำไรขั้นต้นลดลงเหลือ 19.5% ในปี 2555 จากประมาณ 30% ที่บริษัททำได้ในปี 2553-2554 กำไรขั้นต้นลดลงเนื่องจากการแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรมหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังจากผู้ผลิตจากประเทศจีน ส่งผลให้บริษัทต้องลดอัตรากำไรขั้นต้นเพื่อรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดเอาไว้ นอกจากนี้ บริษัทยังมีผลขาดทุนจากยอดคำสั่งซื้อจากลูกค้าภาคส่งออกที่ประเทศอินเดียเนื่องจากตัวแทนจำหน่ายตัดราคาอย่างรุนแรง ส่งผลให้อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทในปี 2555 เท่ากับ 5.0% ลดลงจาก 15.5% ในปี 2554 ทั้งนี้ อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทในปี 2556 จะยังเผชิญกับแรงกดดันจากยอดขายที่รอการส่งมอบบางส่วนที่มีอัตรากำไรขั้นต้นในระดับต่ำ

ในเดือนมิถุนายน 2556 บริษัทได้ออกหุ้นกู้จำนวน 600 ล้านบาทเพื่อใช้ในโครงการขยายกำลังการผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าและงานเหล็กขึ้นรูป ณ สิ้นปี 2555 บริษัทมีหนี้สินรวมเท่ากับ 987 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นจาก 532 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2554 อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุน ณ สิ้นปี 2555 อยู่ที่ระดับ 49.0% เพิ่มขึ้นจาก 33.3% ณ สิ้นปี 2554 หนี้สินรวมที่เพิ่มขึ้นและอัตรากำไรที่ลดลงส่งผลลบต่อกระแสเงินสดของบริษัท โดยบริษัทมีอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมลดลงเหลือ 13.6% ในปี 2555 จากระดับเดิมที่แข็งแกร่งมากประมาณ 60% ในช่วงปี 2553-2554

ในทำนองเดียวกัน อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายก็ลดลงจากระดับที่แข็งแกร่งมากในอดีตเหลือ 3.1 เท่า ในปี 2555 ในระยะกลาง ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นเนื่องจากการฟื้นตัวของกำไรซึ่งเป็นผลจากการปรับเพิ่มภาษีนำเข้าหม้อแปลงไฟฟ้า ในขณะที่หนี้ของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับสูงเนื่องจากบริษัทมีแผนการลงทุนประมาณ 510 ล้านบาทในช่วงปี 2556-2557


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ