ในปีนี้บริษัทได้ตั้งเป้ารายได้ 1,200 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการขยายตัว 500% เทียบกับปีก่อนที่มีรายได้ 237 ล้านบาท แบ่งเป็น 80% จากงานขายสื่อโฆษณากลางแจ้ง และ 20% จากงานโฆษณาประชาสัมพันธ์และการจัดทำรายการโทรทัศน์
TSF ขึ้นแท่นผู้นำสื่อกลางแจ้ง (Out of Home Media : OHM) มากที่สุดและทำเลดีที่สุดใน กทม.ยาวนาน 9 ปี ตอกย้ำความแข็งแกร่ง หลังคว้าสิทธิดูแลป้ายโฆษณาบนทางเท้า (Mupi) และป้ายโฆษณาในศาลารถประจำทาง (Panoramic) ในกรุงเทพฯกว่า 3,000 ป้ายนานถึง 9 ปี (สิ้นสุด 2564) โดยในปีนี้ดำเนินการป้ายโฆษณาบนทางเท้าที่มีอยู่แล้ว 1,500 ป้าย และติดตั้งป้ายใหม่ 1,120 ป้าย ซึ่งจะแล้วเสร็จครึ่งหนึ่ง หรือรวมเป็นประมาณ 2,000 ป้ายโฆษณา ส่วนอีกครึ่งหนึ่งจะเริ่มรับรู้ในไตรมาส 1/57 ส่วนป้ายโฆษณาศาลาที่พักผู้โดยสารมีจำนวน 362 ป้าย
นายอรัญ กล่าวว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี บริษัทคาดว่าจะรับรู้รายได้ขั้นต่ำเดือนละ 55 ล้านบาท จาก 1,500 ป้ายที่เริ่มทำรายได้ในมี.ค. 56 และในเดือนส.ค. 56 จะมีป้ายใหม่เริ่มทยอยติดตั้งเสร็จครึ่งหนึ่งจะทำให้รับรู้รายได้เดือนละขั้นต่ำเพิ่มเป็น 80 ล้านบาท
"ปีนี้ Gross margin ไม่ได้ดีกว่าปีที่แล้วมาก ประมาณ 15-20% จากปีก่อนทำได้ 15% แต่เราได้วอลุ่มมากขึ้นทำให้จำนวนกำไรได้มาก" นายอรัญ กล่าว
ขณะเดียวกันบริษัทได้เจรจากับพันธมิตรจากสหรัฐคือ Clear Channel ซึ่งเป็น TOP 3 ของบริษัทสื่อโฆษณานอกสถานที่ใหญ่ในโลก โดยจะเข้ามาช่วยเหลือด้านการตลาดที่จะนำลูกค้าจากต่างประเทศเข้ามาใช้ป้ายโฆษณาในไทย รวมทั้งร่วมมือพัฒนาป้ายโฆษณา และเริ่มเจรจากับสถานีบริการน้ำมันของแบรนด์หนึ่งที่จะเข้าไปติดตั้งป้ายโฆษณา ขณะนี้ได้ทำ letter of intent แล้ว คาดว่าจะเริ่มงานได้ใน 1 ก.ค. 56
อย่างไรก็ดี ทาง Clear Chnnel มีแผนจะเข้าร่วมทุนใน TSF หลังจากที่เพิ่งชะลอการเข้าถือหุ้นไป 10% โดยให้เหตุผลว่าการมีสัดส่วนถือหุ้น10% น้อยเกินไป หากถือมากกว่า 20% ทางบริษัทจะรับรู้รายได้ ซึ่งทาง TSF จะเปิดทางให้ Clear Channel พูดคุยในปีหน้า
นายอรัญ กล่าวว่า บริษัทจะขยายพื้นที่ป้ายโฆษณาตามหัวเมืองใหญ่ โดยขณะนี้ได้เจรจากับบริษัทที่ได้รับสัมปทานป้ายโฆษณาทั่วเชียงใหม่ คาดว่าจะสรุปการซื้อกิจการปลายเม.ย.นี้หรือหลังจากวันประชุมผู้ถือหุ้น 25 เม.ย.นี้ ที่จะขอมติจากที่ประชุมดังกล่าว ซึ่งจะทำให้บริษัทรับรู้รายได้ทันทีราว 14 ล้านบาท/ปี และคาดว่าบริษัทจะเข้าไปพัฒนาและปรับราคา เชื่อว่าจะทำรายได้เพิ่มเป็น 25 ล้านบาท/ปี
นอกจากนี้บริษัทยังได้มองทำเลพื้นที่ป้ายโฆษณาตามหัวเมืองใหญ่ เบื้องต้นมองไว้ 3 แห่งได้แก่ อีสานตอนบน อีสานตอนล่าง และใต้ โดยคาดว่าในไตรมาส 2/56 น่าจะได้ข้อสรุปการเข้าซื้อกิกจารในอีสานก่อน
ขณะเดียวกันบริษัทได้เข้าศึกษาขยายพื้นที่ป้ายโฆษณาในลาว และกัมพูชา และด้านกฎหมายธุรกิจด้วย โดยรูปแบบจะขายพ่วงกับป้ายโฆษณาในไทย เนื่องจากส่วนใหญ่ธุรกิจที่เข้าไปค้าขายในลาวและกัมพูชาเป็นบริษัทไทย ทั้งนี้คาดว่าจะได้ข้อสรุปในไตรมาส 3/56
"เราไปซื้อที่ ยึดพื้นที่มาก่อนแล้วค่อยมาพัฒนา ทั้งในเมืองและตามหัวเมืองหลัก ซึ่งมองหาโลเกชั่นในหัวเมืองไว้ 3 หัวเมือง" นายอรัญ กล่าว
นายอรัญ ยังเปิดเผยว่า บริษัทสนใจเข้าร่วมประมูลทีวีดิจิตัลช่องเด็ก โดยจะร่วมกับพันธมิตรญี่ป่น ซึ่งเป็นบริษัทโปรดักชั่นการ์ตูนเด็ก โดยสัปดาห์หน้าจะเดินทางไปญี่ปุ่นเพื่อพูดคุยเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม ก็ต้องรอดูเอกสารประกวดราคาก่อนว่ากำหนดช่องเด็ก อายุเท่าไร หากเป็นช่วงวัยเด็ก 1-8 ปี บริษัทคงไม่ทำ เพราะไม่สามารถหาสื่อโฆษณาเข้ามาทั้งวัน
ขณะเดียวกัน ในส่วนของบริษัทย่อย 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท เวิร์ค บาย ฮาร์ท จำกัด และบริษัท ทีเอสเอฟ แมเนจเม้นท์ จำกัด ก็มีผลประกอบการขยายตัวอย่างต่อเนื่องเช่นกัน อาทิ โฆษณาบริเวณสะพานเทียบเครื่องบิน (Jet Bridge) ที่จะเดินเข้าสู่ตัวเครื่องบินในเขตสนามบินภูมิภาค ทั้งหมด 6 แห่ง ประกอบด้วย สนามบินกระบี่, นครราชสีมา, อุบลราชธานี, อุดรธานี, สุราษฎร์ธานี และขอนแก่น โดยได้สิทธิทั้งด้านในและด้านนอกของสะพานเทียบเครื่องบินเป็นเวลา 3 ปี ซึ่งล่าสุดบริษัทได้สายการบินไทยแอร์เอเชียเป็นลูกค้า
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้รับสิทธิพื้นที่แสดงสินค้าในอาคารผู้โดยสารของท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ ขนาด 36 ตารางเมตร แต่เพียงผู้เดียว และเป็นเจ้าของรายการโทรทัศน์ The Session ปรากฏการณ์ดนตรี ออกอากาศทางช่อง 9 อสมท ตั้งแต่ม.ค.56 และได้รับการตอบรับที่ดี ทางช่อง 9 อสมท. จึงให้บริษัทเสนอรายการอีก 1 รายการความยาว 45 นาที
นายอรัญ คาดว่า ในช่วง 3-5 ปีข้างหน้าจะปรับสัดส่วนรายได้จากงานขายสื่อโฆษณากลางแจ้งเป็น 50% และ งานโฆษณาประชาสัมพันธ์และการจัดทำรายการโทรทัศน์เป็น 50% เพราะต้องการกระจายความเสี่ยง
สำหรับการขายหุ้นเพิ่มทุน บริษัทต้องการระดมทุนจำนวน 500 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นการลงทุนในสื่อป้ายโฆษณาใหม่ จำนวน 300 ล้านบาท ใช้คืนหนี้ธนาคารไทยพาณิชย์ 120 ล้านบาท และอีก 80 ล้านบาทไว้สำหรับเข้าซื้อกิจการบริษัทที่เป็นเจ้าของสัมปทานสื่อโฆษณาในเชียงใหม่
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯมีมติให้เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 281,143,335.70 บาท โดยการออกหุ้นสามัญใหม่จำนวน 930,202,676 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.10 บาท จัดสรรเสนอขาย 700,202,676 หุ้นให้กับผู้ถือหุ้นเดิม ในอัตราส่วน 2 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่ ราคาจองซื้อ 0.75 บาท ซึ่งจะนำเข้าเสนอต่อผู้ถือหุ้นในการประชุมสามัญประจำปี 56 ในเดือนเม.ย.นี้
"วัตถุประสงค์ในการเพิ่มทุนดังกล่าว เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนและรองรับการลงทุนติดตั้งป้ายโฆษณาเพิ่ม 1120 ป้าย ตามสิทธิที่ได้จากกรุงเทพมหานคร อีกทั้งเพื่อขยายธุรกิจไปในเมืองสำคัญๆทั่วประเทศ และขยายพันธมิตรไปในประเทศต่างๆ ใน ASEAN ซึ่งมั่นใจว่าการเพิ่มทุนดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้นอย่างแน่นอนและจะช่วยผลักดันให้ผลประกอบการของบริษัทฯในอนาคตเติบโตอย่างยั่งยืนและมั่นคง" นายอรัญ กล่าว