นอกจากนี้ การลดปริมาณการขายของกองทุน SPDR(ตั้งแต่ต้นเดือน มี.ค.-29 มี.ค.)ที่มีสถานะขายสุทธิเพียง 32.62 ตัน ซึ่งลดลงเมื่อเทียบกับเดือน ก.พ. ที่มีสถานะขายสุทธิออกมา 73.60 ตัน ขณะเดียวกันปัจจัยหนุนจากมาตรการดอกเบี้ย ระดับต่ำที่ 0.25% และการดำเนินมาตรการ QE3 และ QE4 ของธนาคารกลางสหรัฐฯ จนกว่าอัตราว่างงานจะลดลงต่ำกว่าระดับ 6.5% ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะยังคงเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนให้ราคาทองคำในตลาดโลก มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นได้
“ในปี 55 ผลตอบแทนของ ทองคำปรับตัวลดลง 7.27% จากในอดีตที่ให้ผลตอบแทนย้อนหลัง 3 ปีเฉลี่ยถึง 15.19% โดยผลตอบแทนเฉลี่ยของดัชนีหุ้นในปีที่ผ่านมาสูงถึง 19.63% จากตลาดหุ้นหลัก 4 ประเทศทั่วโลก (German DAX, Japan Nikkei, Hong Kong Hang Seng, และ USA Dow Jones) ซึ่งผลตอบแทนของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยปี 55 ให้ผลตอบแทนสูงถึง 34.34% ซึ่งมากกว่าดัชนีหุ้นของ 4 ประเทศหลัก" นายทรงวุฒิ กล่าว
อย่างไรก็ตาม จากผลตอบแทนราคาทองคำที่ปรับลดลง ส่งผลให้นักลงทุนเริ่มปรับเปลี่ยนรูปแบบการลงทุน โดยหันมาลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนมากกว่า โดยเฉพาะการเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น ดังนั้น ในไตรมาส 1/56 ราคาทองคำจึงได้รับแรงกดดันการปรับพอร์ตการลงทุนจากนักลงทุนและกองทุน เป็นอย่างมาก
นายทรงวุฒิ กล่าวอีกว่า หากพิจารณาจากไตรมาส 1/56 จะเห็นว่าราคาทองคำได้ปรับตัวลงอีกกว่า 3.83% โดยได้รับแรงขายจากกองทุน SPDR ที่ขายไปแล้ว ทั้งสิ้น 128.66 ตัน ซึ่งมากกว่าการเข้าซื้อของกองทุนดังกล่าวในปี 55 ทั้งปีที่ซื้อรวมจำนวนทั้งสิ้น 96 ตัน นอกจากนี้ ยังถูกกดดันจากการประกาศผลผลิตมวลรวม(QoQ)ของฝรั่งเศส , เยอรมนี และยูโรโซน ณ สิ้นไตรมาส 4/55 ออกมาที่ระดับ -0.3%, - 0.6% และ - 0.6% ตามลำดับ ถือเป็นครั้งแรกที่เศรษฐกิจของยูโรโซนหดตัวพร้อมกัน
“ช่วงปลายไตรมาสแรกราคาทองคำมีปรับตัวขึ้นเล็กน้อย ในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยจากความกังวลเกี่ยวกับไซปรัส และการปฏิรูปภาคธนาคาร อันเป็นผลมาจากการขอเงินช่วยเหลือจากยูโรโซน และกองทุนการเงินระหว่างประเทศจำนวน 1 หมื่นล้านยูโร ซึ่งส่งผลให้นักลงทุนกลับมากังวลในวิกฤตหนี้ยูโรโซน เป็นผลให้ทยอยขายเงินยูโร แล้วหันมาถือทองคำ และ US Dollar ในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัยกว่า นอกจากนี้ทองคำยังได้รับแรงหนุนเพิ่มเติมจากผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ(FED) ในเดือน มี.ค.56 ที่ยังคงมติการใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายระยะสั้นที่ระดับ 0.25% และจะยังคงดำเนินมาตรการซื้อคืนสินทรัพย์ในวงเงิน 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือนจนกว่าอัตราว่างงานจะลดลงต่ำกว่าระดับ 6.5%“นายทรงวุฒิ กล่าว