เนื่องจากจีน ซึ่งเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ นำเข้าเป็นช่วงๆ ขึ้นกับฤดูกาล โดยคาดว่าไตรมาส 2 และไตรมาส 3 อาจซื้อไม่มาก แต่ในไตรมาส 1 และไตรมาส 4 จะสั่งซื้อมาก จึงคาดว่าราคาถ่านหินน่าจะฟื้นตัวในไตรมาส 4
"ราคาถ่านหินในระยะต่อไป ยังมีความอ่อนไหวอยู่ เดิมครึ่งปีหลังนี้น่าจะดี โดยเฉพาะไตรมาส 4 จีนมีการนำเข้าสูง เชื่อว่าปลายปีนี้ราคาจะอยู่ระดับ 95 เหรียญหรือมากกว่านี้ แต่จะไปถึง 100 เหรียญก็ไม่ใช่"นายชนินท์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม แม้ธุรกิจถ่านหิน ซึ่งเป็นธุรกิจหลักในปีนี้จะได้รับผลกระทบจากราคาถ่านหินปรับตัวลง แต่บริษัทจะพยายามรักษากระแสเงินสด ด้วยการมี EBITDA ระดับ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ/ปี โดยในปี 54 มี EBITDA จำนวน 1.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ และในปี 55 มี EBITDA จำนวน 900 ล้านเหรียญสหรัฐ
"เราจะใช้กลยุทธ์จากทรัพย์สินที่มีอยู่ เพื่อพยายามให้มีกระแสเงินสดมีมากที่สุด ไม่ให้ลดต่ำจากปี 54 ที่มี EBITDA 1,100 ล้านเหรียญสหรัฐ และปี 55 อยู่ที่ 900 ล้านเหรียญสหรัฐ เราพยายามรักษา EBITDA ระดับ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ"นายชนินท์กล่าว
นอกจากนี้ ในปี 56 บริษัทมีแผนลดต้นทุน โดยแหล่งผลิตถ่านหินในอินโดนีเซียมีแผนลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลงอีก 10% และอาจจะลดมากกว่านั้นหากราคาถ่านหินไม่ค่อยดี ส่วนแหล่งผลิตถ่านหินในออสเตรเลียมีแผนลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการลง 6% รวมทั้งเพิ่มประสิทธภาพในการผลิต ซึ่งขณะนี้ได้ปิดเหมือง 2 แห่งในออสเตรเลียชั่วคราว คือ เหมืองแอรี่ และเหมืองแมนดาริ่ง โดยเหมืองแอรี่มีความพร้อมกลับมาดำเนินการได้มากกว่าคาดจะกลับมาผลิตในปี 57
อย่างไรก็ดี BANPU ยังคงมุ่งเน้นธุรกิจถ่านหิน และคาดว่า ใน 2-3 ปีข้างหน้าที่มีโอกาส ขณะเดียวกันก็มุ่งสู่ธุรกิจไฟฟ้าใน 2-3 ปีข้างหน้าเมื่อโครงการหงสาที่คาดเริ่มผลิตไฟฟ้าในไตรมาส 4/58 ก็จะมีสัดส่วนกำไรเพิ่มเป็น 30% จากปัจจุบันต่ำกว่า 20%
นายชนินท์ ยังกล่าวว่า บริษัทได้ปรับโครงสร้างทางการเงิน ซึ่งได้ทยอยดำเนินการมา 2-3 ปีแล้ว โดยมีแผนจะปรับสัดส่วนเงินกู้เป็นเงินเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นมา 70-80% จากปัจจุบันมีสัดส่วน 60% เพราะจะได้สอดคล้องกับรายไดของบริษัทที่มีสัดส่วนเป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐมากกว่า 70% โดยแหล่งถ่านหินในอินโดนีเซียขายเป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐกว่า 90% และในออสเตรเลีย มีรายได้เป็นสกุลดอลลาร์สหรัฐ มากกว่า 50% ขณะที่อัตราดอกเบี้ยของหนี้สินจะปรับเป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่มากขึ้น โดยปัจจุบันหนี้ของบริษัทมีอัตราดอกเบี้ยลอยตัว 56% รวมทั้งมีแผนจะยืดเวลาชำระหนี้ยาวขึ้นจากปัจจุบัน 6 ปีเศษ ให้เป็น 7 ปีเศษ
สำหรับความคืบหน้า คดีโครงการเหมืองถ่านหินและโรงไฟฟ้าสปป.ลาว (โครงการหงสา) นายเกริกไกร จีระแพทย์ ประธานกรรมการบริษัท ชี้แจงที่บริษัทไม่ได้ตั้งสำรองความเสียหายศาลแพ่งชั้นต้นได้มีคำพิพากษาให้ BANPU และบริษัท บ้านปูเพาเวอร์ จำกัด ชดใช้ค่าเสียหายแก่นายศิวะ งานทวี และพวก จำนวนประมาณกว่า 3 หมื่นล้านบาท เนื่องจากอยู่ในชั้นอุทธรณ์ของทั้งสองฝ่าย ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลา 3-7 ปี และคาดไปถึงศาลฎีกาแน่นอน
ขณะที่ผู้สอบบัญชีของ BANPU กล่าวว่า หากมีการตั้งสำรองจะมีผลต่อรูปคดี ซึ่งหากตั้งสำรองจะทำให้อีกฝ่ายใช้อ้างในการต่อสู้ได้ และ คดีก็ยังไม่ถึงสิ้นสุด ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องตั้งสำรอง