(เพิ่มเติม) KIAT วางเป้ามุ่งสู่"โลจิสติกส์",อาจเปิดทางพันธมิตรถือหุ้นหลังถูกจีบซื้อกิจการ

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday April 9, 2013 11:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเกียรติชัย มนต์เสรีนุสรณ์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.เกียรติธนาขนส่ง(KIAT) เปิดเผยว่า บริษัทพร้อมมุ่งสู่เป้าหมายการเป็นธุรกิจโลจิสติกส์ จากเดิมที่เน้นการให้บริการขนส่ง เพื่อเพิ่มช่องทางการสร้างรายได้ในอนาคต หลังจากธุรกิจบริการขนส่งต้องเผชิญกับภาวะการแข่งขันสูงขึ้น ประกอบกับ เป็นการปรับตัวเตรียมพร้อมรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC)ที่จะทำให้บริษัทมีโอกาสทางธุรกิจเพิ่มขึ้น ขณะที่ธุรกิจเดิมมีความแข็งแกร่งและมั่นใจในความได้เปรียบของภูมิศาสตร์ประเทศไทย ซึ่งเป็นจุดเด่นที่ทำให้ต่างชาติหลายรายเข้ามาเจรจาขอร่วมธุรกิจและบางรายขอซื้อกิจการ แต่บริษัทยังไม่ได้มีข้อตกลงกับรายใด และไม่มีแผนที่จะขยายธุรกิจออกไป โดยหากมีข้อเสนอที่น่าสนใจก็อาจจะเปิดทางให้มีพันธมิตรเข้ามาร่วมทุนได้ในอนาคต
"เราเคยคิดถึงการเปลี่ยนชื่อ เพราะคำว่า"ขนส่ง"ทำให้คนมองแค่ด้านเดียว เราสนใจที่จะเป็น logistic ตอนนี้เราไม่ได้ขนส่งสินค้าเพียงอย่างเดียว เราขายสินค้าด้วย และเราก็มองไปถึงขั้นที่จะเป็นผู้ผลิตในลักษณะ supply chain ทั้งในขั้นตอนของวัตถุดิบและ downstream" นายเกียรติชัย กล่าว

ปัจจุบัน บริษัทมีสัดส่วนรายได้จากการขายสินค้าราว 10% ของรายได้รวม โดยรายได้หลักก็ยังมาจากบริการขนส่งสินค้ามีเป็นวัตถุอันตราย ได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิง และ เคมีภัณฑ์ เป็นต้น โดยให้บริการทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งขณะนี้บริษัทมีบริษัทย่อยอยู่ในประเทศลาว

นายเกียรติชัย กล่าวว่า จากการที่บริษัทให้บริการขนส่งก็ได้มองไปถึงบริการขายสินค้าที่บวกความสะดวกสบายของผู้ซื้อ โดยมองไปที่กระบวนการผลิต หรือธุรกิจของลูกค้า เพื่อต่อยอดการให้บริการ เช่น วัตถุดิบที่สามารถขนส่งไปขายให้กับลูกค้าในขั้นตอนของอุตสาหกรรมต้นน้ำ หรือ ในขั้นตอนหลังจากกระบวนการผลิตของลูกค้าที่สามารถผลิตต่อยอดไปได้ในขั้นของอุตสาหกรรมปลายน้ำ ซึ่งในอนาคตบริษัทอาจจะเข้าไปมีส่วนร่วมในทั้งสองขั้นตอน

แนวทางดังกล่าวเป็นหนึ่งในการเตรียมพร้อมรับ AEC ซึ่งเชื่อว่าจะเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้กับบริษัท จากที่มีจุดแข็งในด้านการขนส่ง และบริษัทมั่นใจว่ามีความพร้อมด้านอื่น ๆ เพียงพอที่จะแข่งขันใน AEC เนื่องจากบริษัทมีบุคลากรที่ชำนาญในด้านเส้นทางคมนาคม รวมถึงภาษาต่างประเทศ และเข้าใจในความแตกต่างด้านวัฒนธรรมในภูมิภาค ขณะที่อาศัยข้อได้เปรียบของประเทศไทยที่มีความได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์ที่อยู่จุดศูนย์กลางของ AEC มีถนนเชื่อมต่อไปยังประเทศต่าง ๆ รอบด้าน มีระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ดีกว่าเพื่อนบ้านรอบด้าน

นายเกียรติชัย คาดว่าเมื่อเปิด AEC แล้วมีผู้ประกอบการต่างชาติเข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตในภูมิภาคมากขึ้น โดยอาศัยจุดแข็งในด้านวัตถุดิบและค่าแรง แต่อาจจะไม่ได้เข้ามาลงทุนในไทยมากนัก เพราะมีข้อจำกัดมากกว่าประเทศอื่น โดยเฉพาะด้านกฎเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อม แต่คงต้องนำเข้าวัถตุดิบ และส่งออกไปขายต่างประเทศ เพราะการบริโภคในประเทศไม่สูงพอ และเชื่อว่าจะอาศัยการขนส่งสินค้าและวัตถุดิบผ่านประเทศไทย ด้วยความพร้อมด้านการคมนาคมที่เหนือกว่าเพื่อนบ้าน จึงน่าจะทำให้บริษัทสามารถเติบโตไปพร้อมกับ AEC

และด้วยความที่ KIAT เป็นบริษัทมหาชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ทำให้เป็นที่สนใจของทั้งลูกค้าที่ต้องการเข้ามาใช้บริการ รวมถึงภาคธุรกิจต่างชาติที่สนใจเข้ามาลงทุนด้านโลจิสติกส์และการขนส่ง ที่ผ่านมามีต่างชาติหลายรายขอเข้ามาเยี่ยมชมกิจการและพูดคุยกับผู้บริหาร เนื่องจากสนใจที่จะเข้ามาทั้งถือหุ้นและซื้อกิจการ แต่ยังไม่ได้รับข้อเสนอของรายใด และกลุ่มตนเอง ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ยังไม่มีนโยบายที่จะขายกิจการ อย่างไรก็ตาม ในอนาคตก็มีความเป็นไปได้ที่อาจจะเปิดทางให้พันธมิตรที่น่าสนใจเข้ามาถือหุ้น ซึ่งทางกลุ่ม"มนต์เสรีนุสรณ์ "ยืนยันที่จะถือหุ้นใหญ่ไม่ต่ำกว่า 51%

นายเกียรติชัย กล่าวอีกว่า แนวโน้มการเติบโตของบริษัทในขณะนี้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง หลังจากผ่านช่วงที่แย่ที่สุดในปี 55 โดยในปีนี้เชื่อว่าผลประกอบการทั้งรายได้และกำไรจะออกมาดีขึ้น หลังจากไตรมาส 1/56 มีการเติบโตมากกว่า 10% จากไตรมาส 4/55 และเชื่อว่าจะทำได้ไม่ต่ำกว่าไตรมาส 1/55 ส่วนไตรมาส 2/56 ก็ยังจะเติบโตปริมาณการขนส่งที่สูงขึ้นตามความต้องการของลูกค้า ขณะที่บริษัทสามารถเลือกลูกค้าที่ให้อัตรากำไร(มาร์จิ้น)สูงได้มากขึ้น ประกอบกับ บริษัทหันมาเน้นการทำรายได้จากต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งขณะนี้สัดส่วนรายได้จากต่างประเทศเพิ่มเป็น 10% จากเดิมอยู่ที่ประมาณ 1-2% เท่านั้น

"ปีที่แล้วแย่สุด ลูกค้าได้รับผลกระทบหลายอย่างทำให้ยอดขายลดลง...ปีนี้ย่อมมี growth ที่ผ่านมาเรามี growth ใหญ่ ๆ 2-3 ปี และมีขึ้นๆ ลงๆ ตอนนี้เราเตรียมพร้อมที่จะโต"นายเกียรติชัย กล่าว

ทั้งนี้ นายเกียรติชัย ยอมรับว่าธุรกิจขนส่งของบริษัทเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรง โดยมีการตัดราคากันค่อนข้างมาก แต่บริษัทยังเน้นที่จะให้บริการภายใต้เงื่อนไขอัตรามาร์จิ้นต้องไม่ต่ำกว่า 10% หรืออยู่ในช่วง 10-30% เพื่อเน้นการทำกำไรมากกว่ามีรายได้สูงแต่ไม่มีคุณภาพ พร้อมกับการเน้นจับตลาด nitch market ไม่ยึดติดกับลูกค้ารายใหญ่เท่านั้น แต่ดูที่ต้นทุนและมาร์จิ้นเป็นหลัก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ