ส่วนอีกโรงจะตั้งอยู่ใกล้ อ.ปลวกแดง จ.ระยอง ขนาดกำลังการผลิต 2,700 เมกะวัตต์ เงินลงทุน 7.5 หมื่นล้านบาท เนื่องจากใกล้สายส่งขนาดใหญ่ 500 เควี ทำให้พื้นที่ดังกล่าวน่าจะมีคู่แข่งจำนวนมาก และยังติดปัญหาผังเมืองเป็นพื้นที่อยู่อาศัย จึงยังไม่ตัดสินใจว่าจะยื่นประมูลไอพีพีโรงนี้หรือไม่
“การยื่น IPP รอบนี้ บริษัทฯจะยื่นประมูลในนามบริษัทฯเอง แต่ภายหลังรับเลือกแล้วก็จะหาพันธมิตรร่วมทุน ซึ่งขณะนี้ก็มีการพูดคุยอยู่แล้ว โดยหนึ่งในนั้นคือญี่ปุ่น “ นายสหัส กล่าว
ส่วนความคืบหน้าการประมูลโครงการผลิตไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง ขนาด 1,800 เมกะวัตต์ ประเทศอินโดนีเซียนั้น นายสหัส กล่าวว่า EGCO ได้จับมือกับพันธมิตรทั้งมิตซูบิชิ ประเทศญี่ปุ่น EDF จากฝรั่งเศส และบริษัท่ท้องถิ่นอินโดนีเซีย โดยบริษัทฯถือหุ้น 25% โดยขณะนี้ได้ผ่านการคัดเลือกด้านคุณสมบัติของผู้เข้าประมูลแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะพิจารณาเรื่องราคาเสนอขายไฟฟ้า คาดว่าจะสรุปผลได้ในไตรมาส 4/56
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้เข้าร่วมประมูลซื้อหุ้นโรงไฟฟ้าที่ดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์แล้วที่ฮ่องกง และมาเก๊า ในสัดส่วน 19-20% ใช้เงิน 5-6 พันล้านบาทต่อแห่ง คาดว่าจะรู้ผลในปลายไตรมาส 2 นี้ ซึ่งผลตอบแทนการลงทุนอยู่ที่ 9% ส่วนโครงการส่วนขยายโรงไฟฟ้าเคซอนอีก 500 เมกะวัตต์ที่ฟิลิปปินส์นั้น อยู่ระหว่างการเจรจากับพาร์ตเนอร์น่าจะได้ข้อสรุปไตรมาส 3/56
ความคืบหน้าโครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย ในประเทศพม่านั้น ขณะนี้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อยู่ระหว่างการทำแผนแม่บทในการพัฒนาโรงไฟฟ้าในพื้นที่ดังกล่าว คาดว่าจะเสนอให้กับกระทรวงพลังงาน 1-2 เดือนนี้
สำหรับการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังน้ำในลาวเพิ่มเติมนั้น ขณะนี้รัฐบาลลาวได้ยกเลิกสัมปทานโครงการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ-น้ำเทิน 1 ขนาด 300 เมกะวัตต์ที่ EGCO ร่วมทุนอยู่กับมาเลเซีย เนื่องจากต้นทุนการผลิตไฟสูงทำให้ไม่คุ้มการลงทุนในช่วงนั้น แต่หากรัฐบาลลาวจะเปิดสัมปทานใหม่ บริษัทฯพร้อมที่เข้าไปลงทุนอีกครั้ง