นายรัตน์ พานิชพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ QH กล่าวว่า ในปี 56 คาดว่ารายได้จะเติบโตราว 50% โดยรายได้รวมจะอยู่ที่ 2 หมื่นล้านบาท จากปีก่อนที่มี 1.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะเป็นส่วนของรายได้จากการขายราว 1.8 หมื่นล้านบาท จากปีก่อนที่มี 1.2 หมื่นล้านบาท
ขณะที่กำไรจะมีอัตราการเติบโตที่สูงกว่ารายได้ แม้ว่าอัตราเติบโตจะไม่สูงเท่าปีก่อนที่เติบโต 180% เนื่องจากปีนี้บริษัทไม่มีแผนนำทรัพย์สินขายเข้ากองทุนอสังหาริมทรัพย์เพิ่มเติม แต่เน้นการเติบโตจากรายได้ที่สูงขึ้น และยังได้รับผลดีจากค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ลดลงเหลือ 20% ขณะที่จะรักษาอัตรากำไรขั้นต้น(gross profit margin)จะรักษาไว้ไม่ให้ต่ำกว่าปีก่อนที่อยู่ในระดับ 31% โดยบริษัททยอยปรับขึ้นราคาขายแล้ว 7-10% ตามต้นทุนที่สูงขึ้น
"เรามี backlog คอนโดฯ ค่อนข้างเยอะ ซึ่งจะรับรู้รายได้ในปีนี้มากกว่าปีก่อน มองรายได้ปีนี้เติบโต 50% หากไม่มีปัจจัยอื่นๆ มาเกี่ยวข้อง เช่น การเมือง คอนโดฯ ปีนี้ก็จะรับรู้รายได้ราว 6 พันล้านบาท"นายรัตน์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในไตรมาส 1/56 คาดว่ารายได้และกำไรจะต่ำสุดของปีนี้ แต่จะดีกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยในช่วงต้นปีนี้มีการเปิดโครงการใหม่เพียง 3 โครงการ แต่ทยอยเปิดมากขึ้นในไตรมาส 2/56
และทั้งปียังคงแผนเปิดโครงการใหม่ 20 โครงการ มูลค่ารวม 1.9 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นคอนโดมิเนียมใหม่ 4 โครงการ มูลค่ารวม 6.6 พันล้านบาท ประกอบด้วย คิวส์เฮ้าส์ อโศก มูลค่า 3.2 พันล้านบาท คาดเริ่มโอนและรับรู้รายได้ในปี 58, โครงการเดอะทรัสต์ งามวงศ์วาน มูลค่า 2.35 พันล้านบาท เริ่มโอนและรับรู้รายได้ในปี 58 , โครงการเดอะทรัสต์ นครปฐม มูลค่า 570 ล้านบาท เริ่มโอนและรับรู้รายได้ในปี 57 และ โครงการ คาซ่าคอนโด ดอยสุเทพ มูลค่า 534 ล้านบาท เริ่มคาดโอนและรับรู้รายได้ในปี 58
นายรัตน์ กล่าวว่า บริษัทไม่มีแผนขยายตลาดต่างจังหวัดเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันมีโครงการที่หัวหิน พัทยา นครปฐม และเชียงใหม่ เนื่องจากมองว่าหากมีการขยายธุรกิจที่กระจายออกมากเกินไปอาจทำให้การควบคุมดูแลไม่ทั่วถึง อาจจะเกิดความเสี่ยงได้ ประกอบกับ บริษัทต้องการควบคุมดูแลไม่ให้เกิดหนี้เสียมาก ต้องการให้รายได้และค่าใช้จ่ายคงที่
ทั้งนี้ ในไตรมาส 2/56 บริษัทมีแผนออกหุ้นกู้ วงเงินราว 3 พันล้านบาท อายุ 4-5 ปี ดอกเบี้ยเฉลี่ยที่ 4% โดยปีนี้บริษัทไม่มีความจำเป็นต้องกู้เงินมากนัก เนื่องจากจะมีรายได้ส่วนใหญ่จากการโอนโครงการต่างๆ มากขึ้น
นายรัตน์ กล่าวอีกว่า ไม่เชื่อว่าภาคอสังหาริมทรัพย์จะเกิดภาวะฟองสบู่ แต่ยอมรับว่าอาจมีการซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อเก็งกำไรบ้าง แต่เป็นส่วนน้อย คงไม่เกิดปัญหาฟองสบู่เหมือนช่วงวิกฤติปี 40 เพราะปัจจุบันพฤติกรรมของลูกค้าและผู้ประกอบการเปลี่ยนไป โดยผู้ประกอบการกู้เงินมาใช้ลงทุนน้อยลง ส่วนใหญ่จะระดมเงินโดยการออกหุ้นกู้มากกว่า ซึ่งผู้กู้เงินจากสถาบันการเงินส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายเล็ก ขณะเดียวกันผู้ซื้อมีรายได้มากขึ้นจากนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ปรับฐานเงินเดือนปริญญาตรี ทำให้ฐานรายได้มากขึ้นแตกต่างจากอดีต และยังพบว่าการซื้อบ้านหลังที่ 2 ในโครงการแนวราบมีน้อย ส่วนใหญ่จะซื้อเป็นคอนโดมิเนียม
"ของเรากำหนดให้ลูกค้ามีการวางเงินดาวน์ค่อนข้างเยอะที่ 15% ส่วนแบงก์จะให้กู้มากกว่า LTV หรือไม่ก็เป็นเรื่องของแบงก์ โครงการของเรามีผู้ซื้อเก็งกำไรน้อย และมองว่าฟองสบู่ภาคอสังหาฯยังไม่เกิดเห็นภาพชัดเจน" นายรัตน์ กล่าว
สำหรับปัจจัยเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจปีนี้ มองว่าค่าเงินบาทปีนี้แข็งค่าเร็วผิดปกติเป็นเรื่องที่น่ากังวล เนื่องจากเศรษฐกิจไทยกำลังขยายตัวได้ดี การส่งออกยังขยายตัวได้ แต่เงินบาทที่แข็งค่าอาจส่งผลกระทบในหลายๆด้าน เช่น อาจไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามามาก หรืออาจมีการนำเข้าสินค้าที่ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อภาพรวม เช่น สินค้าฟุ่มเฟือย เป็นต้น