(เพิ่มเติม) THAI เผย cabin factor มี.ค.56 ที่ 80.3% จาก 78.4% ใน มี.ค.55

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday April 19, 2013 15:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.การบินไทย(THAI) เปิดเผยว่า อัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสาร(cabin factor)ในเดือน มี.ค.56 อยู่ที่ 80.3% สูงขึ้นจาก 78.4% ในเดือน มี.ค.55 ส่วนในไตรมาส 1/56 คาดว่าจะอยู่ในระดับเฉลี่ย 79.8%

ทั้งนี้ บริษัทได้เสนอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาแนวทางการจัดตั้งบริษัทย่อยเพื่อให้บริการสายการบินไทยสมายล์แอร์เวย์ ก่อนจะเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบต่อไป

นายสรจักร เกษมสุวรรณ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ THAI กล่าวว่า ในไตรมาส 1/56 cabin factor เฉลี่ยอยู่ที่ 79.8% ทำให้ได้เกินเป้าหมายเกือบ 1% เป็นผลดีจากผู้โดยสารต่างประเทศเข้าไทยสูง โดยในเดือน มี.ค.56 มีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็น 2 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 13.6% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นผลทำให้ cabin factor เดือน มี.ค.เฉลี่ยอยู่ที่ 80.3% สูงขึ้นเมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อนที่เฉลี่ยอยู่ที่ 78.4%

ส่วนแนวโน้มช่วงที่เหลือของปีนี้ คาดว่าธุรกิจการบินยังคงเติบโตต่อเนื่อง จากจำนวนผู้โดยสารที่ยังเดินทางเข้าประเทศ และคาดว่าไตรมาส 2-3/56 แม้เป็นช่วงโลว์ซีซั่น แต่คาดว่าจะมีผลการดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมาย โดยในไตรมาส 2/56 เตรียมออกโปรโมชั่นกระตุ้นตลาดไว้แล้ว

นายสรจักร กล่าวว่า ยอมรับว่าเป็นห่วงทิศทางเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมากทะลุ 29 บาท/ดอลลาร์ไปแล้ว แต่ ณ ขณะนี้บริษัทยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะรายได้ที่เป็นเงินบาทมีสัดส่วน 30-40% ขณะที่ค่าใช้จ่ายหลักคือน้ำมันคิดเป็น 40% ของต้นทุนรวมมีรายจ่ายเป็นสกุลดอลลาร์ ซึ่งช่วยชดเชยผลกระทบที่เกิดขึ้นได้บ้าง ทำให้ฝ่ายการตลาดได้เร่งการขายจากจุดจำหน่ายตั๋วในกรุงเทพฯมากขึ้น

"เราห่วงเงินบาทที่แข็งค่าเกินไปเล็กน้อย แต่ไม่ได้ตระหนกมาก เพราะมีค่าใช้จ่ายที่เป็นดอลลาร์มาช่วยชดเชย แต่เงินบาทยังไม่นิ่งต้องติดตามต่อไป"นายสรจักร กล่าว

สำหรับการจัดตั้งสายการบินไทยสมายล์แอร์เวย์ คาดว่าจะจัดตั้งได้ในเดือน พ.ค.56 หลังจากบริษัทได้เสนอให้กระทรวงคมนาคมเห็นชอบ และเตรียมส่งเรื่องให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

นายสรจักร กล่าวว่า ไทยสมายล์ฯ จะมีทุนจดทะเบียน 1.4 พันล้านบาท มี THAI ถือหุ้น 100% มีเครื่องบิน 9 ลำ ซึ่งการแยกหน่วยธุรกิจไทยสมายล์มาตั้งเป็นบริษัทจะทำให้การบริหารงานได้สะดวกมากขึ้น เพราะเป็นบริษัทที่มีขนาดเล็กและมีต้นทุนต่ำกว่า THAI ระยะเวลาบินสั้นกว่า ทำให้มีกำไรสูงขึ้น และสามารถบริหารต้นทุนมีประสิทธิภาพ แข่งขันกับสายการบินลูกของสายการบินต่างประเทศรายอื่นได้ เช่น ซิลค์แอร์ของสิงคโปร์แอร์ไลน์ และดราก้อนแอร์ของคาเธย์แปซิฟิก

"สายการบินไทยสมายล์จะเป็นสายการบินภูมิภาค เชื่อมต่อผู้โดยสารของ THAI ที่เป็นสายการบินระหว่างประเทศ มองสายการบินไทยสมายล์มีความได้เปรียบ ซิลค์แอร์ ที่สามารรุกตลาดในประเทศจีนและอินเดียได้เพิ่มเติม"นายสรจักร กล่าว

อย่างไรก็ตาม THAI ยังคงนโยบายที่จะถือหุ้นในสายการบินนกแอร์ในสัดส่วน 49% ต่อไป หลังบริษัทกระจายหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เนื่องจากบริษัทยังต้องการมีอำนาจในการบริหาร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ