ขั้นตอนต่อไปจะนำไปประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ โดยร่างประกาศทั้ง 3 ฉบับนี้จะทำให้การเปิดให้บริการ 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 GHz ดำเนินการได้ทันท่วงที
นอกจากนี้ ที่ประชุม กสทช. มีเห็นชอบร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการคัดลือกให้ใช้คลื่นความถี่ในกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์เพื่อประกอบกิจการทางธุรกิจ พ.ศ. .... ซึ่งขั้นตอนต่อไปก็จะนำไปประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ ร่างประกาศดังกล่าวนี้เป็นประกาศที่สำคัญสำหรับการประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ประเภทบริการทางธุรกิจ
รวมทั้ง เห็นชอบร่างประกาศ กสทช. เรื่อง แนวทางการจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับกิจการวิทยุคมนาคมเพื่อความมั่นคงของรัฐ พ.ศ. ซึ่งขั้นตอนต่อไปก็จะนำไปประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ และได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการประสานงานการบริหารคลื่นความถี่เพื่อความมั่นคงของรัฐในกิจการโทรคมนาคมและกิจการวิทยุคมนาคม
อีกทั้ง มีมติให้ยกเลิกประกาศ กทช. เรื่อง การเปิดเสรีการให้บริการวงจรเช่าส่วนบุคคลระหว่างประเทศ (International Private Leased Circuit : IPLC) ที่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง ที่ได้มีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาไปเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2552 เนื่องจากประกาศดังกล่าวไม่สอดคล้องกับลักษณะของการประกอบกิจการโทรคมนาคมในการให้บริการวงจรเช่าส่วนบุคคลระหว่างประเทศภาคพื้นดิน (Land Cable) และ/หรือทางภาคพื้นน้ำ (Submarine Cable) ต้องได้รับใบอนุญาตจาก กสทช.
และยังทำให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ จึงเห็นควรยกเลิกประกาศดังกล่าว และโดยที่การขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมเพื่อให้บริการวงจรเช่าส่วนบุคคลระหว่างประเทศ (International Private Leased Circuit : IPLC) ที่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง อยู่ภายใต้ พ.ร.บ. การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 ซึ่งสามมารถดำเนินการตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายดังกล่าวได้อยู่แล้ว
และที่ประชุม กสทช. มีเห็นชอบร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการจัดเก็บรายได้เพื่อนำไปใช้ในการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (ฉบับที่ 2) ไปดำเนินการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะเป็นระยะเวลา 30 วัน โดยวิธีการยื่นเอกสารแสดงความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ของสำนักงาน กสทช. และการจัดประชุมหารือเฉพาะกลุ่มผู้รับใบอนุญาต (Focus Group)
ทั้งนี้ ร่างประกาศดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาจัดเก็บรายได้เพื่อนำไปใช้ในการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม ก่อนที่จะมีการปรับปรุงทบทวนหลักเกณฑ์ระยะยาวต่อไป โดยสาระสำคัญของร่างประกาศฉบับนี้ ได้แก่ แก้ไขรายได้ขั้นต่ำที่ไม่ต้องชำระค่า USO จากไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อปี เป็น 40 ล้านบาทต่อปี โดยหากรายได้สุทธิของผู้รับใบอนุญาตไม่เกิน 40 ล้านบาทต่อปีได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระค่า USO หากรายได้สุทธิของผู้รับใบอนุญาตเกิน 40 ล้านบาทต่อปี ให้ได้รับยกเว้นในส่วนของ 40 ล้านบาท ส่วนที่เกิน 40 ล้านบาทต้องชำระในอัตราร้อยละ 3.75