อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากความไม่แน่นอนของนโยบายด้านระบบขนส่งในอนาคตและการแทรกแซงในการปรับอัตราค่าผ่านทางของภาครัฐ รวมทั้งการลงทุนขนาดใหญ่ของบริษัทในสัมปทานทางด่วนเส้นทางใหม่ ๆ
ขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่าบริษัทจะสามารถสร้างกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่แข็งแกร่งได้อย่างต่อเนื่องและดำเนินนโยบายการเงินอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงของการลงทุน ทั้งนี้ การลงทุนกับบริษัทที่มีความสัมพันธ์กันหรือในโครงการใหม่ๆ ต้องได้รับการพิจารณาอย่างรอบคอบเพื่อที่จะรักษาความแข็งแกร่งทางการเงินรวมถึงคุณภาพเครดิตของบริษัทเอาไว้
บริษัททางด่วนกรุงเทพ เป็นผู้ก่อสร้างและบริหารทางด่วนขั้นที่ 2 หรือทางพิเศษศรีรัชและทางพิเศษอุดรรัถยา (ทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด) หรือทางด่วนส่วน C+ โดยได้รับสัมปทานในระบบ Build-Transfer-Operate (BTO) ระยะเวลา 30 ปีจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) โดยสัญญาสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วนต่อขยายของทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน D และทางด่วนส่วน C+ จะหมดอายุในปี 2563 ปี 2570 และปี 2569 ตามลำดับ ทางด่วนขั้นที่ 2 นั้นเชื่อมต่อกับทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ทางด่วนขั้นที่ 1) ซึ่งก่อสร้างและบริหารโดย กทพ. ทางด่วนทั้ง 2 เส้นทางซึ่งเชื่อมโยงกันนี้จึงเป็นโครงข่ายถนนที่ครอบคลุมพื้นที่ในเขตกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นทางเลือกในการเดินทางของประชาชนเมื่อการจราจรบนถนนปกติในใจกลางกรุงเทพฯ และชานเมืองมีปัญหาติดขัด
บริษัทมีการแบ่งรายได้กับ กทพ. สำหรับทางด่วนในเขตเมืองคือทางด่วนขั้นที่ 1 และทางด่วนขั้นที่ 2 (ส่วน A และ B) ส่วนในเขตนอกเมืองคือส่วน C และ D รวมทั้งส่วน C+ ที่เป็นของบริษัทย่อยนั้นบริษัทจะได้รับรายได้ค่าผ่านทางทั้งหมด โดยตั้งแต่เดือนมีนาคม 2554 เป็นต้นไป สัดส่วนการแบ่งรายได้ระหว่างบริษัทกับ กทพ. ได้เปลี่ยนจาก 50:50 เป็น 40% ให้แก่บริษัท และ 60% ให้แก่ กทพ. การปรับสัดส่วนรายได้ดังกล่าวมีผลทำให้รายได้ค่าผ่านทางโดยเฉลี่ยต่อวันของบริษัทในปี 2554 ลดลง 6.4% แม้ปริมาณจราจรบนทางด่วนโดยเฉลี่ยต่อวันจะเพิ่มขึ้น 5.2% ก็ตาม กระนั้น การเติบโตอย่างต่อเนื่องของปริมาณจราจรบนทางด่วนก็ส่งผลให้รายได้ค่าผ่านทางโดยเฉลี่ยต่อวันของบริษัทในปี 2555 กลับมาอยู่ที่ระดับเดิมก่อนที่จะมีการปรับสัดส่วนการแบ่งรายได้ซึ่งอยู่ที่ระดับประมาณ 21.1 ล้านบาทต่อวัน
บริษัทได้รับสัมปทานโครงการทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ซึ่งได้เริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2555 สัญญาสัมปทานเป็นแบบระบบ BTO ระยะเวลา 30 ปีโดยมีระยะเวลาการก่อสร้างไม่เกิน 48 เดือน บริษัทจะได้รับรายได้ค่าผ่านทาง 100% และโครงการมีมูลค่าการลงทุน 25,491 ล้านบาท
ปริมาณการจราจรบนทางด่วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เริ่มเปิดให้บริการโดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 3.1% ในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ในปี 2555 ปริมาณจราจรบนทางด่วนโดยเฉลี่ยต่อวันปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.8% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยอยู่ที่ 1,084,576 เที่ยวต่อวัน ปัจจัยหลักเกิดจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณจราจรในเขตนอกเมืองเป็นสำคัญ ทริสเรทติ้งคาดว่าในระยะกลางปริมาณจราจรบนทางด่วนจะยังคงเติบโตได้อีกอันเป็นผลจากปัจจัยหลายประการ เช่น การขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง การเพิ่มขึ้นของจำนวนรถยนต์ที่จดทะเบียนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวนประชากรที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ที่เพิ่มขึ้น และการขยายตัวของโครงการที่อยู่อาศัยไปยังเขตปริมณฑล
ในปี 2555 บริษัทมีรายได้ค่าผ่านทาง 7,732 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.8% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งการปรับตัวที่ดีขึ้นนี้สอดคล้องกับปริมาณจราจรเฉลี่ยต่อวันบนทางด่วนที่เพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะในเขตนอกเมือง อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 78.81% ในปี 2555 เมื่อเทียบกับ 80.19% ในปี 2554 อันเป็นผลมาจากการปรับส่วนแบ่งรายได้และค่าใช้จ่ายในการบริหารที่เพิ่มขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของค่าเบี้ยประกันภัยและค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บค่าผ่านทาง
ส่วนของฐานะการเงิน บริษัทมีภาระหนี้อยู่ที่ระดับประมาณ 19,000 ล้านบาทในช่วงปี 2554-2555 อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนลดลงจากระดับ 50.47% ในปี 2554 เป็น 46.80% ในปี 2555 เนื่องจากส่วนของผู้ถือหุ้นที่เพิ่มขึ้น กระแสเงินสดของบริษัทอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง โดยเงินทุนจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นจาก 4,603 ล้านบาทในปี 2554 เป็น 4,795 ล้านบาทในปี 2555 ส่วนอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมจึงเพิ่มขึ้นจาก 24.17% ในปี 2554 สู่ระดับ 25.23% ในปี 2555 อย่างไรก็ตาม คาดว่าภาระหนี้ของบริษัทจะเพิ่มสูงขึ้นในระยะปานกลางอันเป็นผลจากการลงทุนในทางพิเศษส่วน B+ ที่บริษัทมีแผนการลงทุนโดยใช้เงินกู้ระยะยาวประมาณ 75% หรือ 19,000 ล้านบาทของมูลค่าการลงทุนทั้งหมด นอกจากนี้ บริษัทยังได้เพิ่มการลงทุนใน บมจ. น้ำประปาไทย (TTW) จาก 9.24% เป็น 20.24% ด้วย โดยการลงทุนเพิ่มคิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 3,134 ล้านบาท ทั้งนี้ บริษัทจะใช้เงินลงทุนจำนวน 2,600 ล้านบาทในปี 2556 และจะทยอยจ่ายส่วนที่เหลือภายใน 2 ปีข้างหน้า