สำหรับพันธบัตรรัฐบาล รุ่นที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรกคือรุ่น LB176A (อายุ 4.2 ปี) LB196A (อายุ 6.2 ปี) และ LB21DA (อายุ 8.7 ปี) มีมูลค่าการซื้อขายในแต่ละรุ่นเท่ากับ 26,278 ล้านบาท 20,598 ล้านบาท และ 20,165 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนพันธบัตรที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย รุ่นที่มีปริมาณซื้อขายสูงสุด 3 อันดับแรก คือรุ่น CB13507A (อายุ 14 วัน) BOT161A (อายุ 3 ปี) และ CB13502A (อายุ 28 วัน) มูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 36,562 ล้านบาท 12,798 ล้านบาท และ 10,783 ล้านบาท ตามลำดับ
ขณะที่หุ้นกู้ภาคเอกชน ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ หุ้นกู้ของบริษัท โตโยต้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด รุ่น TLT138A (AAA) มูลค่าการซื้อขาย 634 ล้านบาท หุ้นกู้ของบริษัท บางกอก มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ลิส จำกัด รุ่น BMUL163A (AA+) มูลค่าการซื้อขาย 301 ล้านบาท และหุ้นกู้ของบริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) รุ่น MINT228A (A) มูลค่าการซื้อขาย 300 ล้านบาท
เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield Curve) ปรับตัวลดลงในช่วงประมาณ -1 ถึง -10 Basis Point (100 Basis point มีค่าเท่ากับ 1%) โดยภาพรวมของตลาดตราสารหนี้ไทยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมายังค่อนข้างนิ่ง เนื่องจากเป็นช่วงวันหยุดยาว ซึ่งยังไม่มีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามากระทบต่อตลาด การที่อัตราผลตอบแทนปรับตัวลดลง ส่วนหนึ่งเป็นการปรับตัวลดลงตามผลตอบแทนของพันธบัตรสหรัฐฯ (US Treasury) หลังจากที่ตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯที่ประกาศออกมาแย่กว่าคาด ขณะที่ IMF ปรับตัวเลขประมาณการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกใหม่ โดยคาดว่าในปีนี้จะเติบโตที่ 3.3% ลดลงจากการประมาณการครั้งก่อนที่ 3.5% ปัจจัยในเชิงลบต่างๆเหล่านี้ ส่งผลให้มีเงินทุนไหลเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้ไทยอย่างต่อเนื่อง และมีผลทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยสัปดาห์นี้ปรับตัวลดลง โดยเฉพาะในกลุ่มของตราสารระยะยาว
ในสัปดาห์นี้นักลงทุนต่างชาติมียอด ซื้อสุทธิ ในตราสารหนี้ทุกประเภท (ทั้งระยะสั้น และระยะยาว) รวมกัน 16,401 ล้านบาท แต่หากพิจารณาเฉพาะการซื้อขายในตราสารหนี้ระยะยาว (อายุคงเหลือมากกว่า 1 ปี) จะพบว่าเป็นการซื้อสุทธิถึง 9,326 ล้านบาท ทางด้านของนักลงทุนรายย่อย ถึงแม้จะมีสัดส่วนของการซื้อขายค่อนข้างน้อย แต่ในสัปดาห์นี้ยังคงมียอดซื้อสุทธิ 478 ล้านบาท