ทริสฯ เพิ่มเครดิต RATCH เป็นระดับ “AA+" จาก “AA" แนวโน้ม “Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday April 25, 2013 10:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งเพิ่มอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ. ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) เป็น “AA+" จากเดิมที่ระดับ “AA" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่" ซึ่งสะท้อนถึงสถานะทางธุรกิจที่มีความแข็งแกร่งขึ้นจากการขยายธุรกิจ รวมถึงความสำเร็จของการดำเนินงานโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ของบริษัท

อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงสถานะผู้นำในการเป็นกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ที่สุดในประเทศ ตลอดจนรายได้เงินปันผลจำนวนมากและสม่ำเสมอจากการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้า และความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นอกจากนี้ การพิจารณาอันดับเครดิตดังกล่าวยังคำนึงถึงความหลากหลายของโครงการโรงไฟฟ้าของบริษัทและแผนขยายการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าและโครงการที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศด้วย

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายว่าบริษัทจะมีรายได้ที่แน่นอนจากการลงทุนในโรงไฟฟ้าที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว นอกจากนี้ ยังคาดว่าบริษัทจะยังคงดำรงโครงสร้างเงินทุนที่แข็งแกร่งเอาไว้ได้แม้จะต้องดำเนินการตามแผนการเติบโตหรือเมื่อมีการลงทุนในอนาคต

RATCH เป็นบริษัทโฮลดิ้งที่ลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าซึ่งก่อตั้งในปี 2543 เพื่อซื้อโรงไฟฟ้าราชบุรีจาก กฟผ. โดยในปีเดียวกันบริษัทได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยด้วย ณ วันที่ 7 มีนาคม 2556 ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ RATCH ยังคงเป็น กฟผ. ซึ่งถือหุ้นในสัดส่วน 45% บริษัทมีการลงทุนในโรงไฟฟ้าทั้งหมด 18 โครงการ ด้วยกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้น 11,013 เมกะวัตต์ โดยคิดเป็นกำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทจำนวน 6,337 เมกะวัตต์

บริษัทมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น 14.6% ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยเพิ่มขึ้นจาก 5,531 เมกะวัตต์ ณ สิ้นปี 2553 เป็น 6,337 เมกะวัตต์ ณ สิ้นปี 2555 โดยมาจากโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการแล้วจำนวน 12 โครงการ (5,313 เมกะวัตต์) และ 6 โครงการ (1,024เมกะวัตต์) ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างหรือพัฒนา โรงไฟฟ้าของบริษัทที่จ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบของประเทศไทยมีจำนวน 4,570 เมกะวัตต์ คิดเป็น 14% ของกำลังการผลิตติดตั้งของประเทศ ส่งผลให้บริษัทเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

โรงไฟฟ้าทั้งหมดของบริษัทที่จ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบของประเทศมีการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) สำหรับโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินงานแล้วนั้น เป็นโรงไฟฟ้าที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยประมาณ 83% อยู่ในประเทศออสเตรเลีย 12% และอยู่ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวอีก 5% นอกจากนี้ ประมาณ 90% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าดังกล่าวของบริษัทใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ในขณะที่ 5% เป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำ และส่วนที่เหลือ 5% เป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินและพลังงานทดแทน

บริษัทได้ขยายธุรกิจไฟฟ้าไปยังประเทศออสเตรเลียมาตั้งแต่ปี 2554 โดยซื้อกิจการของ RATCH-Australia Corporation Limited (RAC; เดิมชื่อ Transfield Services Infrastructure Fund) ปัจจุบันบริษัทถือหุ้นใน RAC คิดเป็นสัดส่วน 80% โดยบริษัทใช้เงินลงทุนทั้งหมดจำนวน 289 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย ในปี 2555 บริษัทขายเงินลงทุนจำนวน 14.03% ในโรงไฟฟ้า Loy Yang A และตกลงรับข้อเสนอการยกเลิกสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้า Collinsville ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่ตั้งอยู่ในประเทศออสเตรเลีย บริษัทได้รับผลตอบแทนรวมทั้งสิ้น 219 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลียจากการทำธุรกรรมดังกล่าว

ปัจจุบันกำลังการผลิตไฟฟ้าของบริษัทในประเทศออสเตรเลียมีจำนวนทั้งสิ้น 654 เมกะวัตต์ และบริษัทยังมีแผนในการพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมในประเทศออสเตรเลียด้วย

หลังจากลงทุนใน RAC ในปี 2554 บริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เพิ่มขึ้นจากระดับเฉลี่ยที่ 10,000 ล้านบาทต่อปีเป็นระดับเฉลี่ยที่ 12,000 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2554-2555 สำหรับปี 2555 นั้น EBITDA ของบริษัทมาจาก บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี จำกัด (RATCHGEN) 71% มาจาก RAC 17% และมาจากโครงการอื่น ๆ อีก 12% สำหรับเงินปันผลที่บริษัทได้รับจำนวน 5,486 ล้านบาทในปี 2555 นั้นมาจากการลงทุนใน RATCHGEN บริษัท ไตร เอนเนอจี้ จำกัด (TECO) บริษัท ราชบุรีเพาเวอร์ จำกัด (RPCL) และบริษัท ชูบูราชบุรี อีเลคทริคเซอร์วิส จำกัด (CRESCO)

บริษัทมีฐานะการเงินที่แข็งแรง โครงสร้างเงินทุนของบริษัทปรับตัวดีขึ้นหลังจากบริษัทชำระหนี้เงินกู้ที่มีกับสถาบันการเงินและบริษัทที่เกี่ยวข้องของ RAC โดยบริษัทมีเงินกู้รวมลดลงจาก 39,325 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2554 เหลือ 31,803 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2555 บริษัทมีอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนดีขึ้นจาก 44.8% ณ สิ้นปี 2554 เหลือ 37.2% ณ สิ้นปี 2555 โดยช่วงระหว่างปี 2556-2559 นั้นบริษัทจะมีค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนรวม 37,000 ล้านบาท โดยคาดว่าในปี 2556 จะมีค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนประมาณ 10,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ด้วยระดับ EBITDA ที่ 12,000 ล้านบาทต่อปีและเงินสดในมือซึ่งรวมเงินลงทุนระยะสั้น ณ เดือนธันวาคม 2555 อีก 13,933 ล้านบาททำให้บริษัทยังคงมีศักยภาพในการลงทุนตามแผนโดยใช้กระแสเงินสดจากการดำเนินงานเป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตาม บริษัทอาจต้องใช้แหล่งเงินทุนจากภายนอกเพิ่มเติมสำหรับการซื้อกิจการขนาดใหญ่หรือการลงทุนอื่นที่นอกเหนือจากโครงการในปัจจุบัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ