“ผลการประเมินในครั้งนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าประเทศไทยเป็นผู้นำด้านบรรษัทภิบาลในภูมิภาคเอเชียและกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ ทั้งนี้ ประเทศไทยต้องส่งเสริมประสิทธิภาพในการดำเนินงานของ ก.ล.ต. และ ธปท. รวมถึงยกระดับธรรมาภิบาลของรัฐวิสาหกิจให้สูงขึ้น เพื่อที่จะรักษาความเป็นผู้นำดังกล่าวไว้"นายเดวิด โรบิแนท ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านการพัฒนาภาคเอกชน ธนาคารโลก กล่าว
นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)กล่าวว่า การจัดอันดับบรรษัทภิบาลของไทยในปี 56 เป็นอันดับ 1 ในภุมิภาค ทำให้เชื่อว่าจะมีเม็ดเงินไหลเข้ามาในตลาดทุนมากขึ้น เพราะนักลงทุนต่างชาติให้ความสำคัญกับหุ้นที่มีบรรษัทภิบาล โดยจะมีเม็ดเงินคุณภาพไหลเข้ามามากขึ้น แต่ก็มีเม็ดเงินเก็งกำไรไหลตามเข้ามาด้วย ทั้งนี้นักลงทุนที่จะเข้ามาเก็งกำไรนั้น ตลท.ก็จะมีมาตรการดูแลในส่วนนี้ที่แตกต่างจากนักลงทุนปกติ
ด้านนายวรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการ ก.ล.ต. เปิดเผยว่า ผลการประเมินของปี 2555 เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงบรรษัทภิบาลของตลาดทุนไทยที่ได้รับการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ซึ่งเกิดจากความพยายามของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่ร่วมมือร่วมใจกันแก้ไขกฎหมาย กฎเกณฑ์ และปฏิบัติตามแนวทางที่วางไว้ เพื่อให้การกำกับดูแลกิจการของตลาดทุนไทยเป็นที่ยอมรับในระดับสากล แต่ความสำเร็จในครั้งนี้จะเป็นความสำเร็จได้อย่างแท้จริง หากทุกฝ่ายร่วมปรับปรุงและปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และแนวทางอีกหลายด้านให้ดีขึ้นไปอีก จะเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ลงทุนยิ่งขึ้น โดยใช้ความมุ่งมั่นและความสามารถที่มีอยู่อย่างเต็มที่ เพื่อให้ตลาดทุนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก
อนึ่ง ธนาคารโลกเปิดเผยผลประเมินบรรษัทภิบาลตลาดทุนไทยปี 2555 ในรายงานเรื่อง การประเมินการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลด้านบรรษัทภิบาล (The Report on the Observance of Standards and Codes: Corporate Governance Country Assessment) หรือ CG - ROSC ปรากฏว่า ตลาดทุนไทยมีพัฒนาการที่ดีในการยกระดับบรรษัทภิบาล และเป็นผู้นำในภูมิภาคโดยได้คะแนนสูงในทุกเรื่องที่สำคัญ ซึ่งพัฒนาการดังกล่าวนี้ได้สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ลงทุน อีกทั้งยังเป็นการรักษาสิทธิของผู้ถือหุ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ถือหุ้นรายย่อย เพิ่มความเป็นมืออาชีพให้กับคณะกรรมการบริษัท และยกระดับความโปร่งใสของกิจการ
อย่างไรก็ดี ตลาดทุนไทยยังสามารถปรับปรุงการดำเนินการด้านบรรษัทภิบาลได้อีกหลายด้านเพื่อให้ทัดเทียมสากลมากยิ่งขึ้น ดังนี้
- การยกระดับธรรมาภิบาลของรัฐวิสาหกิจและปรับปรุงบทบาทภาครัฐในฐานะเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
- การส่งเสริมความเป็นอิสระและประสิทธิภาพในการดำเนินงานของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
- การปรับปรุงกฎหมายและกฎเกณฑ์ในการกำกับดูแลให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น
- การปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องในส่วนที่เกี่ยวกับการเยียวยาผู้ถือหุ้น ซึ่งรวมถึงการเพิ่มบทบาทของ ก.ล.ต. ในเรื่องดังกล่าว
- การมีมาตรการให้บริษัทจดทะเบียนปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชีสากลอย่างเต็มรูปแบบและเปิดเผยข้อมูลให้ครบถ้วน รวมทั้งข้อมูลที่ไม่ใช่ข้อมูลทางการเงิน
- การกำหนดแนวทางให้ชัดเจนเพื่อสร้างความเป็นอิสระของผู้สอบบัญชีและการดำเนินงานของตัวกลางในตลาดทุน
- การดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อเสริมสร้างให้คณะกรรมการบริษัทมีความเป็นอิสระและดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ