อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่ายอมรับว่าจะส่งผลกระทบต่อกำไรของลูกค้า โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี จากเงินบาทที่เคยอยู่ในระดับ 30-31 บาท/ดอลลาร์ จนกระทั่งแข็งค่ามาอยู่ที่ 28-29 บาท/ดอลลาร์ น่าจะทำให้ผลกำไรของผู้ประกอบการลดลงอย่างน้อย 10% ทั้งนี้ยังไม่รวมต้นทุนที่สูงขึ้นจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น 20% โดยมองว่าตั้งแต่ไตรมาส 2/56 น่าจะเริ่มเห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นจากค่าเงินบาท
"ในไตรมาส 2/56 มองสินเชื่อเอสเอ็มอีน่าจะเติบโตได้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มค้าปลีก ค้าส่ง ลูกค้ายังไม่มีสัญญาณการผิดนัดชำระหนี้ เพราะแบงก์มีลูกค้าส่งออกไม่มากแค่ 20% ของพอร์ตเอสเอ็มอี ส่วนใหญ่จะเป็นผู้นำเข้ามากกว่า แต่ทั้งนี้เราก็ได้แนะให้ลูกค้ามีการป้องกันความเสี่ยง มีการบริหารจัดการต้นทุน...ตั้งแต่ไตรมาส 2/56 น่าจะเริ่มเห็นรายได้ของผู้ประกอบการลดลง แม้ออเดอร์จะเท่าเดิม เพราะเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ออเดอร์ส่วนใหญ่จะมีสัญญาสั้นสุด 3 เดือน ดังนั้นออเดอร์ใหม่ก็ให้ลูกค้าปิดความเสี่ยง" นายปพนธ์ กล่าว
นายปพนธ์ กล่าวถึงการที่ ไอเอ็นจี กรุ๊ป เตรียมขายหุ้น TMB นั้นว่า เรื่องดังกล่าวตนเองยังไม่ทราบเรื่อง แต่ถือว่าเรื่องนี้มีกระแสข่าวต่อเนื่องมาระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งมองว่าการซื้อขายหุ้นถือเป็นเรื่องปกติ และสามารถเข้าใจได้ ไม่น่าจะมีผลกระทบต่อการบริหารงาน และธนาคารก็ยังคงเดินหน้าทำงานตามแผนงานที่กำหนดไว้ต่อไป
"ถือเป็นเรื่องปกติ การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุดก็คือการเดินหน้าบริหารงานให้ได้ตามแผน...ผมยังไม่ทราบเรื่องนี้ เพราะผู้บริหารน่าจะเป็นคนสุดท้ายที่รู้เรื่อง"นายปพนธ์ กล่าว
และในวันนี้ธนาคารได้เปิดบริการสินเชื่อเอสเอ็มอีเวอร์ชั่นใหม่ ด้วยสินเชื่อธุรกิจ 3 เท่า 3 ก๊อก สำหรับเอสเอ็มอีขนาดเล็ก มียอดขายไม่เกิน 50 ล้านบาท/ปี โดยก๊อกแรกให้วงเงินสินเชื่อสูงสุด 3 เท่าของหลักประกัน ก๊อกสอง เพื่อฉุกเฉินเสริมวงเงินเพิ่มอีก 15% ของวงเงินเดิม และก๊อก 3 เมื่อต้องการขยายกิจการด้วยวงเงินที่เตรียมไว้รองรับการขยายธุรกิจ ทั้งนี้มุ่งแก้ปัญหาการขาดสภาพคล่องและข้อจำกัดของหลักประกันของลูกค้า เนื่องจากลูกค้ากลุ่มนี้จะมีปัญหาในการเข้าถึงเงินทุนได้ยาก
"สินเชื่อดังกล่าวเป็นการต่อยอดจากสินเชื่อ 3 เท่า TMB เอสเอ็มอี และสินเชื่อ 3 เท่าด่วน ซึ่งประสบความสำเร็จด้วยดี มีลูกค้าใช้บริการรวมกว่า 13,400 ราย เป็นยอดสินเชื่อคงค้ากว่า 75,000 ล้านบาท " นายปพนธ์ กล่าว
สินเชื่อดังกล่าว เชื่อว่าจะทำให้ลูกค้าสามารถวางแผนและควบคุมการใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว ตั้งเป้าในปี 56 จะมีลูกค้าเอสเอ็มอี ใช้บริการวงเงินส่วนเพิ่ม หรือก๊อก 2-3 ประมาณ 8 พันล้านบาท