ทั้งนี้ บริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปใช้ชำระหนี้และลงทุนตามแผน อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะความเป็นผู้นำของบริษัทในธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร ตลอดจนการมีสินค้าและตลาดที่หลากหลาย ความสำเร็จของกลยุทธ์ที่เน้นผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมบริโภคที่มีตราสัญลักษณ์ และการขยายธุรกิจในต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงความยืดหยุ่นทางการเงินของบริษัท ตลอดจนความผันผวนของราคาผลิตภัณฑ์จากฟาร์ม ความเสี่ยงจากโรคระบาด และความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงอัตราภาษีนำเข้าของประเทศผู้นำเข้าสินค้า ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายว่าบริษัทจะยังคงสามารถรักษาสถานะผู้นำในธุรกิจเกษตรอาหารที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาเอาไว้ได้ นอกจากนี้ การเป็นบริษัทที่มีสินค้าและตลาดที่หลากหลายน่าจะช่วยลดความเสี่ยงที่เกิดจากความผันผวนของราคาผลิตภัณฑ์ในธุรกิจฟาร์มซึ่งมีลักษณะเป็นสินค้าโภคภัณฑ์และมีปัญหาการแพร่ระบาดของโรค
บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร เป็นผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ณ วันที่ 11 มีนาคม 2556 กลุ่มบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ถือหุ้นในบริษัทในสัดส่วน 45.09% ธุรกิจของบริษัทแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่คือกลุ่มสัตว์บกและกลุ่มสัตว์น้ำ โดยแต่ละกลุ่มประกอบด้วยธุรกิจอาหารสัตว์ ธุรกิจฟาร์ม และธุรกิจอาหารพร้อมบริโภค การดำเนินธุรกิจแบบครบวงจรส่งผลให้สินค้าของบริษัทได้มาตรฐานสากลทั้งในด้านความปลอดภัยและการตรวจสอบย้อนกลับซึ่งสามารถส่งออกไปยังประเทศผู้นำเข้าที่สำคัญซึ่งได้แก่ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป เอเชีย และประเทศสหรัฐอเมริกา
หลังจากเสร็จสิ้นการซื้อหุ้นของ C.P. Pokphand Co., Ltd. (CPP) ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2555 สัดส่วนรายได้ของบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหารมีการกระจายตัวทางภูมิศาสตร์ยิ่งขึ้น ทั้งนี้ รายได้จากกิจการในประเทศคิดเป็นสัดส่วน 45% ของรายได้รวมในปี 2555 ลดลงจาก 75% ในปี 2554 รายได้จากกิจการในประเทศจีนคิดเป็นสัดส่วน 28% ของรายได้รวม ตามด้วยรายได้จากประเทศเวียดนาม (12%) รายได้ส่วนที่เหลือมาจากกิจการในประเทศตุรกี ไต้หวัน อินเดีย และประเทศอื่น ๆ ซึ่งแต่ละประเทศมีสัดส่วน 1%-5% ของรายได้รวม ธุรกิจอาหารสัตว์ซึ่งค่อนข้างมีเสถียรภาพเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้มากที่สุดโดยคิดเป็นสัดส่วน 56% ของรายได้รวมในปี 2555 รายได้จากธุรกิจฟาร์มซึ่งมีลักษณะผันผวนเหมือนสินค้าโภคภัณฑ์มีสัดส่วน 32% ของรายได้รวม จาก 43% ในปี 2554 และธุรกิจอาหารพร้อมบริโภคมีสัดส่วน 12% ของรายได้รวมจากเดิมที่ระดับ 19% ในปี 2554
บริษัทยังคงนโยบายลดความเสี่ยงที่เกิดจากความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ลงและสร้างเสถียรภาพของกระแสเงินสดโดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมบริโภคที่มีตราสัญลักษณ์ของบริษัทอีกทั้งยังขยายช่องทางการจัดจำหน่ายทั้งตลาดภายในประเทศและตลาดต่างประเทศด้วย ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนรายได้จากธุรกิจอาหารพร้อมบริโภคให้เป็น 20% ของยอดขายรวมภายในปี 2559 รวมทั้งจะขยายกิจการในต่างประเทศอย่างต่อเนื่องอีกหลายแห่ง โดยมีเป้าหมายจะเพิ่มสัดส่วนรายได้จากกิจการในต่างประเทศเป็น 63% ของยอดขายรวมภายในปี 2559 จาก 55% ในปี 2555
ในปี 2555 ธุรกิจสัตว์บกในประเทศไทยอยู่ในช่วงต่ำสุดของวัฎจักรอุตสาหกรรม ตามรายงานของสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ราคาเนื้อไก่และเนื้อหมูปรับตัวลดลง 15%-20% เมื่อเทียบกับราคาเฉลี่ยในปี 2554 กากถั่วเหลืองซึ่งเป็นหนึ่งในต้นทุนอาหารสัตว์ที่สำคัญปรับตัวขึ้นอย่างมากถึงกว่า 30% ในปี 2555 นอกจากนี้ บริษัทยังประสบปัญหาโรคระบาด Early Mortality Syndrome (EMS) ในฟาร์มกุ้งในประเทศไทยด้วย ปัจจัยเหล่านี้กดดันให้อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทลดลงเป็น 11.6% ในปี 2555 จาก 16.3% ในปี 2554 และส่งผลให้กำไรจากการดำเนินงานลดลง 46% จากปี 2554 เป็น 7,983 ล้านบาทในปี 2555 แม้ว่ารายได้ของบริษัทจะเพิ่มขึ้น 73.3% หลังการรวมกิจการ CPP ส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายลดลงเพียง 9% เป็น 22,493 ล้านบาทในปี 2555 เทียบกับ 24,655 ล้านบาทในปี 2554 เนื่องจากส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ บริษัทยังได้รับรู้กำไรจากการขายเงินลงทุนจำนวน 6,009 ล้านบาทในปี 2555 และบันทึกกำไรจากการเปลี่ยนแปลงมูลค่ายุติธรรมของเงินลงทุนในบริษัทร่วมจำนวน 8,673 ล้านบาทในปีเดียวกันอีกด้วย ส่งผลให้กำไรสุทธิของบริษัทยังอยู่ในระดับสูงถึง 18,790 ล้านบาทในปี 2555 จาก 16,117 ล้านบาทในปี 2554 ความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทลดลงในปี 2555 เนื่องจากภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นและการดำเนินงานที่อ่อนแอลง การซื้อกิจการขนาดใหญ่ของ CPP ทำให้ภาระหนี้ของบริษัทเพิ่มขึ้นในปี 2555 โดยหนี้เงินกู้รวมของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 146,203 ล้านบาท ณ เดือนธันวาคม 2555 จาก 69,449 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2554 อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายลดลงเป็น 3.6 เท่าในปี 2555 เมื่อเทียบกับ 10.2 เท่าในปี 2554
เงินบาทแข็งค่าอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่น อย่างไรก็ตาม คาดว่าการแข็งค่าของเงินบาทจะส่งผลกระทบไม่มากต่อบริษัทเนื่องจากฐานรายได้ของบริษัทมีการกระจายตัวและบริษัทมีการนำเข้าวัตถุดิบซึ่งช่วยลดผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนลง ในปี 2555 บริษัทมีการส่งออกประมาณ 8.6% ของรายได้รวม ในขณะที่มีการนำเข้าวัตถุดิบคิดเป็น 7.9% ของต้นทุนรวม หรือคิดเป็น 7.0% ของรายได้รวม ทำให้รายได้เพียง 2% ของบริษัทมีความเสี่ยงจากการแข็งค่าของเงินบาท การกระจายตัวของแหล่งรายได้ในเชิงภูมิศาสตร์ของบริษัทยังช่วยลดผลกระทบบางส่วนที่เกิดจากโรคระบาดไข้หวัดนกH7N9 ในประเทศจีนด้วย ผลประกอบการในประเทศจีนคิดเป็น 28% ของรายได้รวมในปี 2555 และธุรกิจในประเทศจีนเกือบทั้งหมดเป็นธุรกิจจำหน่ายอาหารสัตว์โดยส่วนใหญ่เป็นอาหารหมู ส่วนอาหารไก่มีสัดส่วน 33% ของรายได้ของธุรกิจในประเทศจีน ดังนั้น รายได้ในสัดส่วน 9% ของรายได้รวมอาจจะได้รับผลกระทบจากปริมาณการขายอาหารสัตว์ที่ลดลงตามการบริโภคไก่ที่ลดลงจากการระบาดของไข้หวัดนกในประเทศจีน ในปี 2556 แม้ว่าธุรกิจกุ้งในประเทศไทยและธุรกิจอาหารไก่ในประเทศจีนจะอ่อนแอลง แต่ก็คาดว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจะฟื้นตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของราคาเนื้อสัตว์ในประเทศไทย ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2556 ราคาเนื้อไก่ได้ปรับตัวขึ้นไปอยู่ที่ประมาณกิโลกรัม (กก.) ละ 40 บาท โดยเพิ่มขึ้น 12.6% จากราคาเฉลี่ยในปี 2555 ส่วนราคาเนื้อหมูเพิ่มขึ้นไปเป็น 62 บาท/กก. เพิ่มขึ้น 15.0% จากราคาเฉลี่ยในปี 2555 ซึ่งจะส่งผลให้ความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจสัตว์บกในประเทศดีขึ้น
บริษัทวางแผนลงทุนขนาดใหญ่ประมาณ 50,000 ล้านบาทในระหว่างปี 2556-2558 ทั้งนี้ หากไม่มีแผนการลดหนี้ที่เป็นรูปธรรม แผนการลงทุนจำนวนมากนี้จะกดดันให้งบดุลของบริษัทอ่อนแอลง อย่างไรก็ตาม บริษัทมีนโยบายที่ชัดเจนที่จะทำให้โครงสร้างเงินทุนของบริษัทแข็งแรงขึ้นและลดอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนให้อยู่ในระดับต่ำกว่า 50% ในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า