PTTEP เดินหน้าแหล่งปิโตรเลียม ไม่ล้มเป้าหมาย 9 แสนบาร์เรล/วันในปี 63

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday April 29, 2013 16:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม(PTTEP) กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 340,000 บาร์เรล(เทียบเท่าน้ำมันดิบ)/วันแล้ว ซึ่งบริษัทยังเดินหน้าหาแหล่งปิโตรเลียมแห่งใหม่เพื่อไปสู่เป้าหมายแรกในระดับ 600,000 บาร์เรล/วันในปี 63 หรือปี ค.ศ.2020

อย่างไรก็ตาม บริษัทยังไม่ละทิ้งเป้าหมายเดิมที่ 900,000 บาร์เรล/วันหากโครงการในสำรวจในชั้นที่ 3 ประสบความสำเร็จและมีโอกาสไปลงทุนซื้อกิจการที่น่าสนใจที่สามารถผลิตได้ทันที ก็เชื่อว่าจะช่วยผลักดันปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นได้ โดยประเมินโอกาสไปถึงเป้าหมายการผลิต 900,000 บาร์เรล/วันอยู่ที่ 10%

นายเทวินทร์ กล่าวถึงการสำรวจแหล่งปิโตรเลียมในหลายประเทศว่า บริษัทได้เตรียมเข้าไปสำรวจแหล่งปิโตรเลียมแห่งใหม่ในละตินอเมริกา เนื่องจากมองว่าเป็นแหล่งที่มีศักยภาพพอสมควร โดยเฉพาะในบราซิล เพราะว่ายังไม่มีการค้นพบแหล่งใหญ่ๆ และไม่ได้มีการเปิดให้สัมปทานการสำรวจนานมาแล้ว คาดว่าอีกไม่นานจะมีการเปิดประมูลสัมปทานการสำรวจแหล่งใหม่ ๆ ซึ่งบริษัทอยู่ระหว่างการติดตามความคืบหน้า

ส่วนการที่รัฐบาลแสดงความสนใจแหล่งก๊าซธรรมชาติในประเทศปากัวนิวกินีนั้น ทางบริษัทได้เข้าไปศึกษาอยู่เป็นระยะพบว่าในปากัวนิวกินีมีแหล่งที่ค้นพบก๊าซธรรมชาติแล้ว 2 แห่ง ซึ่ง 1 แห่งได้มีการพัฒนาเป็น LNG แล้วโดย EXON MOBILE ส่วนอีก 1 แหล่งยังไม่ได้มีการพัฒนา แต่การที่บริษัทจะเข้าไปลงทุนพัฒนาแหล่งดังกล่าวยังต้องมีการศึกษาอย่างละเอียดก่อน

"รัฐบาลปากัวนิวกินีคงยกขึ้นมาเสนอรัฐบาลไทยว่าสนใจไหม เพราะเห็นว่าเราเป็นประเทศนำเข้าพลังงาน ซึ่งทางบริษัทก็ได้มีการศึกษาอยู่เป็นระยะๆ วันนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเข้าไปลงทุนหรือไปทำอย่างไร...การลงทุนต้องมีการศึกษารายละเอียดทางเทคนิคเป็นเกณฑ์ ต้องดูความคุ้มค่าในการลงทุน ความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน และมีต้นทุนเท่าไหร่ เราต้องมีการศึกษาในเชิงลึกก่อนตัดสินใจลงทุน"นายเทวินทร์ กล่าว

นายเทวินทร์ กล่าวถึงความคืบหน้าในการสำรวจแหล่งต่าง ๆ ว่า การสำรวจแหล่งปิโตรเลียมเบอร์ซาบาในแอลจีเรีย ซึ่งบริษัทร่วมทุนกับเพรทโทรเวียดนาม คาดว่าจะสามารถผลิตน้ำมันดิบได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 57 อัตราการผลิตเริ่มต้น 20,000-25,000 บาร์เรล/วัน นอกจากนั้นยังมีโครงการร่วมสำรวจกับ CNOC ของจีน แต่บริษัทดำเนินการเองทั้งหมด ซึ่งได้มีการเจาะหลุมสำรวจไปแล้ว 9 หลุม พบน้ำมันดิบและทดสอบแล้ว 7 หลุม ไม่พบ 1 หลุม และกำลังทดสอบอีก 1 หลุมที่คาดว่าพบน้ำมันดิบแน่นอน

ทั้งนี้ หลังจากหมดเฟสแรกจำนวน 9 หลุมในโครงการนี้ บริษัทได้วางแผนเตรียมเจาะหลุมประเมินผลในโครงการอัซซีเบอร์ราเกซต่อไป

ด้านแหล่งแคชเมเปิ้ลในออสเตรเลีย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่พบก๊าซธรรมชาติที่มีศักภาพประมาณ 2-3 หลุม ซึ่งบริษัทเตรียมแผนพัฒนาต่อโดยมองหาพันธมิตรเข้ามาร่วม คาดว่าจะเป็นการใช้เรือทำ LNG (FLNG)โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบ คาดว่าจะมีความชัดเจนในช่วงปลายปี 56 น่าจะมีกำลังผลิตราย 2 ล้านตัน/ปี หรือเทียบเท่า 280 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน บริษัทได้เจรจาส่งมาขายให้ประเทศให้กับ บมจ.ปตท.(PTT) แต่ยังมีความไม่แน่นอน เนื่องจากสถานการณ์ LNG ค่อนข้างมีความผันผวนหลังจากมีผู้ผลิตหลายหันมาผลิต LNG จำนวนมาก

ขณะที่แหล่งโมซัมบิค ที่บริษัทถือหุ้นในสัดส่วน 8.5% อยู่ระหว่างเจรจาเกี่ยวกับสัญญาซื้อขาย LNG การทำวิจัยและรายงานเพื่อรับรองปริมาณสำรองที่มีเพื่อให้แก่รัฐบาลโมซัมบิค และการทำโปรเจ็คไฟแนนซ์ซิ่ง คาดว่าภายในปลายปี 56 หรืออย่างช้าภายในไตรมาส 1/57 จะได้เห็นความชัดเจนในการพัฒนาการออกแบบและการก่อสร้างอย่างละเอียด โดยการผลิต LNG ในแปลงนี้ทั้งหมด 10 ล้านตัน/ปี เทียบเท่า 14,000 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน และจะกระจาย LNG ส่งไปขายในหลายๆตลาด อย่างเช่น ไทย ญี่ปุ่น และอินเดีย โดยอาจจะส่งมาจำหน่ายในไทยประมาณ 2 ล้านตัน/ปี และอาจจะมีการเพิ่มปริมาณการนำเข้าได้ในอนาคต ทั้งนี้แหล่งโมซัมบิคคาดว่าจะสามารถเริ่มผลิตได้อย่างเร็วภายในปี ค.ศ.2018 หรือ 2019

และสำหรับแหล่งมอนทาราในออสเตรเลียคาดว่าจะสามารถเริ่มผลิตได้ในช่วงเดือน พ.ค.56 เริ่มที่กำลังการผลิต 20,000 บาร์เรล/วัน กำลังการผลิตสูงสุดที่ 35,000 บาร์เรล/วัน คาดว่าภายในปลายปี 56 จะสามารถใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นมาในระดับ 30,000 บาร์เรล/วัน

*ความคืบหน้าแหล่งใหญ่ในพม่าทั้งบนบก-ในทะเล

นายเทวินทร์ กล่าวว่า โครงการในประเทศพม่าในแปลง M3 ที่บริษัทเซ็นสัญญาไปเมื่อกลางปี 55 ขณะนี้มีการสำรวจอยู่ โดยผลผลิตก๊าซในแปลงดังกล่าวคาดว่าจะพัฒนาเพื่อส่งให้แก่พม่าไว้ใช้ประโยชน์ในประเทศ โดยแนวท่ออยู่แนวเดียวกับแหล่งยาดานาที่วิ่งเข้าสู่ย่างกุ้ง และทางกลุ่ม บมจ.ปตท.(PTT)มีความสนใจเข้าไปลงทุนต่อยอดจากแปลงสำรวจนี้ โดยใช้โมเดลในไทย

"แปลง M3 ที่เราเซ็นสัญญาไปเมื่อกลางปีที่แล้ว เราได้มีการเจาะหลุมประเมินซึ่งพบก๊าซธรรมชาติ 1 หลุม เจาะหลุมต่อมาไม่พบ แต่ขณะนี้ได้มีการเจาะหลุมสำรวจอยู่ 3 หลุม ซึ่งคาดว่ามีโอกาสพบก๊าซธรรมชาติ โดยแปลงสำรวจ M3 อยู่ใกล้กับย่างกุ้งเป็นแหล่งที่ไม่ใหญ่มาก โดยก๊าซธรรมชาติที่นำขึ้นมาจะมีการส่งไปให้แก่ประเทศพม่าใช้ประโยชน์ในประเทศเท่านั้น โดยแปลงสำรวจ M3 อยู่ตามแนวท่อที่วิ่งจากยาดานาไปย่างกุ้ง ผลิตขึ้นมาและต่อเข้าท่อใกล้ๆได้เลย แต่ต้องรอผลจากการประเมินก่อน"นายเทวินทร์ กล่าว

ส่วนแปลงสำรวจน้ำลึก MD7 และ MD8 อยู่ฝั่งอ่าวเมาะตะมะติดกับแปลงสำรวจน้ำลึกในฝั่งอันดามัน บริษัทได้มีการเจรจากับทางพม่าเพื่อเข้าไปสำรวจและเตรียมความพร้อมเข้าไปสำรวจและศึกษา นอกจากนี้ในพม่ากำลังจะมีการเปิดประมูลแปลงสำรวจแห่งใหม่ทั้งบนบกและในทะเลในช่วงกลางปี 56 โดยบริษัทมองโอกาสในการเสนอพื้นที่สำรวจเพิ่มเนื่องจากเป็นพื้นที่ที่บริษัทได้มีการเข้าไปสำรวจ โดยบริษัทจะมีการร่วมทุนกับพันธมิตรในการเข้าไปประมูลแปลงสำรวจแห่งใหม่ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรหลายรายที่สนใจ

ขณะที่แหล่งซอติกาในพม่าเป็นแหล่งทีมีแผนการพัฒนาค่อนข้างเร็วและเร่งรัด คาดว่าจะใช้ระยะเวลา 30 เดือนหลังจากเซ็นสัญญาซื้อขายในการเริ่มผลิต โดยจะเริ่มผลิตเพื่อส่งไปให้แก่ประเทศพม่าในเดือน ธ.ค.56 หรือ ม.ค.57 ระดับการผลิต 300 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ส่งให้แก่พม่าจำนวน 60 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน และส่งมาในไทย 240 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน กำหนดส่งก๊าซมาในประเทศไทยตามสัญญาซื้อขายในสิ้นเดือน มี.ค.57 แต่อาจจะมีการส่งมากน้อยกว่าปริมาณตามสัญญา เนื่องจากพม่าขอให้ส่งก๊าซให้กับพม่าเพิ่มขึ้น 10% หรือเกือบ 100 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน เนื่องจากในประเทศพม่าจำเป็นต้องนำก๊าซไปใช้ในการผลิตไฟฟ้าและใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆที่มีการใช้ก๊าซ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ