สำหรับพันธบัตรรัฐบาล รุ่นที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรกคือรุ่น LB176A (อายุ 4.2 ปี) LB21DA (อายุ 8.7 ปี) และ LB155A (อายุ 2.1 ปี) มีมูลค่าการซื้อขายในแต่ละรุ่นเท่ากับ 45,123 ล้านบาท 23,492 ล้านบาท และ 17,237 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนพันธบัตรที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย รุ่นที่มีปริมาณซื้อขายสูงสุด 3 อันดับแรก คือรุ่น CB13523C (อายุ 28 วัน) CB13514A (อายุ 14 วัน) และ CB13725B (อายุ 91 วัน) มูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 39,964 ล้านบาท 34,220 ล้านบาท และ 21,244 ล้านบาท ตามลำดับ
ขณะที่หุ้นกู้ภาคเอกชน ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ หุ้นกู้ของบริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) รุ่น SCC174A (A) มูลค่าการซื้อขาย 557 ล้านบาท หุ้นกู้ของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) รุ่น PTTGC13DA (AA-) มูลค่าการซื้อขาย 523 ล้านบาท และหุ้นกู้ของบริษัท ลิสซิ่งไอซีบีซี (ไทย) จำกัด รุ่น ICBCTL164A (AAA) มูลค่าการซื้อขาย 351 ล้านบาท
เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield Curve) ปรับตัวลดลงในช่วงประมาณ -1 ถึง -10 Basis Point (100 Basis point มีค่าเท่ากับ 1%) ทั้งนี้ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อตลาดตราสารหนี้ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นปัจจัยภายในประเทศเป็นหลัก โดยในช่วงปลายสัปดาห์มีการประชุมนัดพิเศษระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กรณีเงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็วในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ส่งผลให้มีแรงขายจากนักลงทุนบางส่วน เนื่องจากเกิดความกังวลเกี่ยวกับกระแสข่าวว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจจะออกมาตรการเพื่อควบคุมค่าเงินบาท เช่น การเก็บค่าธรรมเนียมการถือครองตราสารหนี้ระยะสั้น และมาตรการกำหนดระยะเวลาการถือครองพันธบัตร รวมไปถึงมาตรการภาษีคุมเงินไหลเข้า ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวสูงขึ้นในกลุ่มของตราสารหนี้ระยะกลางถึงระยะยาว อย่างไรก็ตามยังไม่มีมาตรการเกี่ยวกับการควบคุมเงินทุนออกมาแต่อย่างใด
ในสัปดาห์นี้นักลงทุนต่างชาติมียอด ซื้อสุทธิ ในตราสารหนี้ทุกประเภท (ทั้งระยะสั้น และระยะยาว) รวมกัน 401 ล้านบาท แต่หากพิจารณาเฉพาะการซื้อขายในตราสารหนี้ระยะยาว (อายุคงเหลือมากกว่า 1 ปี) จะพบว่าเป็นการซื้อสุทธิ 1,638 ล้านบาท ทางด้านของนักลงทุนรายย่อย ในสัปดาห์นี้ยังคงมียอดขายสุทธิ 78 ล้านบาท