ทริสฯคงเครดิตองค์กร TISCOที่ “A-" ปรับแนวโน้มเป็น“Stable"จาก"Positive"

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday April 30, 2013 14:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ.ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป (TISCO) ที่ระดับ “A-" พร้อมทั้งเปลี่ยนแปลงแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทเป็น“Stable"หรือ“คงที่"จาก“Positive"หรือ“บวก"โดยแนวโน้มอันดับเครดิตที่เปลี่ยนแปลงสะท้อนสถานะด้านเงินทุนของบริษัทที่ลดลงจากการมีสัดส่วนหนี้สินที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อใช้ในการขยายสินเชื่อจำนวนมาก

อันดับเครดิตสะท้อนฐานะการเป็นบริษัทเพื่อการลงทุนในกลุ่มทิสโก้ ตลอดจนอำนาจการบริหารงานและผลตอบแทนจากเงินปันผลที่ได้รับอย่างสม่ำเสมอผ่านการถือหุ้น 99.98% ในธนาคารทิสโก้ ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ อันดับเครดิตองค์กรของบริษัทต่ำกว่าอันดับเครดิตองค์กรของธนาคารทิสโก้อยู่ 1 ขั้น ซึ่งสะท้อนถึงสถานะของบริษัทที่พึ่งพารายได้เงินปันผลจากธนาคารทิสโก้เป็นหลัก รวมทั้งการมีข้อจำกัดจากเกณฑ์การจ่ายเงินปันผลดังกล่าวด้วย นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงคณะผู้บริหารของบริษัทที่มีประสบการณ์และมีความสามารถในการรักษาสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ตลอดจนระบบบริหารความเสี่ยงที่ดี และแหล่งที่มาของรายได้ซึ่งมีการกระจายตัวด้วย

อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนลงบางส่วนจากความเสี่ยงของสัดส่วนภาระหนี้สินที่เพิ่มขึ้นพร้อม ๆ กับการขยายตัวของสินทรัพย์อย่างรวดเร็ว ตลอดจนภาวะการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจเช่าซื้อ และธุรกิจหลักทรัพย์ รวมถึงความไม่แน่นอนของสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ โดยปัจจัยเหล่านี้อาจจำกัดโอกาสในการขยายธุรกิจและความสามารถในการทำกำไรของกลุ่มทิสโก้ได้ในอนาคต

แนวโน้มอันดับเครดิตที่เปลี่ยนแปลงเป็น “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนสถานะด้านเงินทุนของบริษัทที่อ่อนแอลงจากการมีระดับหนี้สินที่เพิ่มขึ้น แนวโน้มอันดับเครดิตยังสะท้อนการคาดการณ์ว่าบริษัทจะสามารถดำรงสถานะทางการแข่งขันที่แข็งแกร่งในธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ ตลอดจนรักษาคุณภาพของสินเชื่อ มีผลประกอบการที่ดี และเพิ่มความแข็งแกร่งของฐานเงินทุนได้ต่อไป ทั้งนี้ อันดับเครดิตองค์กรและแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทจะยังคงขึ้นอยู่กับสถานะอันดับเครดิตของธนาคารทิสโก้ซึ่งเป็นบริษัทลูกรายสำคัญ

กลุ่มทิสโก้มีการปรับโครงสร้างองค์กรในปี 2551 โดยได้จัดตั้งบริษัททิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ปขึ้นมาเพื่อมีสถานะเป็นบริษัทเพื่อการลงทุนและเป็นบริษัทแม่ของกลุ่มทิสโก้แทนธนาคารทิสโก้ โดยมีบริษัท CDIB & Partners Investment Holding Pte Ltd. เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดด้วยสัดส่วนการถือหุ้น 10% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2555 ส่วนที่เหลือถือหุ้นโดยนักลงทุนไทยและต่างประเทศ

บริษัทมีขนาดของสินทรัพย์รวมใหญ่เป็นอันดับ 9 จากธนาคารพาณิชย์ไทยทั้งสิ้น 15 แห่ง โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดของสินเชื่อ 2.7% และเงินรับฝาก 2.3% ในปี 2555 บริษัทมีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 290.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 32% จากปีก่อน สินเชื่อรวมเติบโตขึ้น 34% โดยอยู่ที่ 248.3 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2555 โดยประกอบไปด้วยสินเชื่อรายย่อย (71% ของสินเชื่อรวม) สินเชื่อธุรกิจรายใหญ่ (17%) และสินเชื่อขนาดกลางและขนาดย่อม (10%) รายได้ของบริษัทมีการกระจายตัวได้ดีกว่าคู่แข่ง โดยมีสัดส่วนของรายได้ค่าธรรมเนียมคิดเป็น 22% ของรายได้รวม ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของระบบที่ 17% ทั้งนี้ รายได้ของบริษัทส่วนใหญ่ได้รับจากธนาคารทิสโก้ในสัดส่วนสูงสุดคิดเป็น 85% ของรายได้ดอกเบี้ยรวมรายได้ค่าธรรมเนียม ส่วนที่เหลือเป็นรายได้จากบริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทิสโก้ จำกัด และ บริษัท ไฮเวย์ จำกัด

คณะผู้บริหารมีส่วนช่วยให้บริษัทสามารถให้การสนับสนุนบริษัทย่อยจนสามารถดำรงสถานะทางการแข่งขันไว้ได้ นอกจากนี้ บริษัทยังมีระบบการบริหารความเสี่ยงแบบรวมกลุ่มและรวมศูนย์ซึ่งช่วยให้บริษัทยังคงรักษาคุณภาพของสินทรัพย์ไว้ได้เป็นอย่างดี โดยในปี 2555 บริษัทมีสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้คิดเป็น 1.3% ของสินเชื่อรวม ลดลงจาก 2.9% ในปี 2551 และยังคงเป็นระดับต่ำที่สุดในระบบธนาคารพาณิชย์ นอกจากนี้ บริษัทยังคงดำรงเงินกองทุนและสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญในระดับที่เพียงพอเพื่อรองรับสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (ประกอบด้วยสินเชื่อจัดชั้นค้างชำระเกินกว่า 3 เดือน สินเชื่อที่ปรับโครงสร้างหนี้ และทรัพย์สินรอการขาย) โดยมีสินทรัพย์ด้อยคุณภาพคิดเป็น 14% ของเงินกองทุนซึ่งรวมสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในระบบที่ระดับ 40%

บริษัทมีผลประกอบการที่ดี โดยมีกำไรสุทธิในปี 2555 เท่ากับ 3.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 13% จากปีก่อน ทั้งนี้ เนื่องจากรายได้ค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้น รวมทั้งการได้รับประโยชน์จากการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 1.9% ในปี 2553 เป็น 1.7% ในปี 2554 และ 1.5% ในปี 2555 แต่ยังคงสูงกว่าค่าเฉลี่ยของระบบในปี 2555 ที่ระดับ 1.3% ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทลดลงในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยตกลงจาก 4.28% ในปี 2553 สู่ระดับ 3.21% ในปี 2554 และ 2.43% ในปี 2555 ต้นทุนทางการเงินยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตามการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในตลาด ซึ่งสะท้อนภาวะการแข่งขันในการระดมเงินทุนที่รุนแรงขึ้น อย่างไรก็ตาม บริษัทสามารถควบคุมต้นทุนดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพซึ่งช่วยบรรเทาผลกระทบจากต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้นได้ อีกทั้งทริสเรทติ้งยังคาดว่าบริษัทจะสามารถควบคุมต้นทุนทางการเงินไว้ได้ในระยะกลาง

บริษัทมีสัดส่วนภาระหนี้สินเพิ่มขึ้นมากกว่าคู่แข่ง อัตราส่วนของส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์ตกลงอย่างต่อเนื่องจาก 9.14% ในปี 2551 เป็น 6.33% ในปี 2555 อันเป็นผลจากการขยายสินเชื่ออย่างรวดเร็วรวมทั้งจากการจ่ายเงินปันผลจำนวนมากแก่ผู้ถือหุ้น บริษัทมีแผนเพิ่มทุนโดยการออกใบแสดงสิทธิเพื่อการซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่สามารถเปลี่ยนมือได้ (TSR) ซึ่งจะดำเนินการในไตรมาสที่ 2 ของปี 2556

อย่างไรก็ตาม คาดว่าสถานะเงินกองทุนจะไม่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ หากพิจารณารวมถึงเงินปันผลที่จะจ่ายในปี 2556 บริษัทเริ่มคำนวณเงินกองทุนสำหรับความเสี่ยงด้านเครดิตด้วยวิธี Internal Rating Based Approach (IRB) ภายใต้เกณฑ์ Basel II แทนวิธีมาตรฐาน (SA) ซึ่งจะช่วยให้ระบบบริหารความเสี่ยงและบริหารจัดการเงินกองทุนมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น บริษัทมีฐานเงินกองทุนเพียงพอต่อการเติบโตของสินเชื่อในระยะกลาง โดยในปี 2555 ธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 และเงินกองทุนรวมต่อสินทรัพย์เสี่ยงเท่ากับ 8.60% และ 12.56% ตามลำดับ สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ 4.25% และ 8.50%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ