ขณะที่สินเชื่อคงค้างในระบบ (Outstanding Loan) ของบริษัท อยู่ที่ 84,326 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17,505 ล้านบาท เทียบกับไตรมาสแรกของปี 55 โดยมีสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อยู่ที่ 0.79% ต่ำกว่ายอด NPL ไตรมาสแรกปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ 0.97% และต่ำกว่า NPL เป้าหมายซึ่งตั้งไว้ที่ระดับ 0.81% ทำให้ผลประกอบการไตรมาส 1/56 มีกำไร 123 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 43.70%
ด้านนายอิสระ วงศ์รุ่ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ลีสซิ่งกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ไตรมาสแรกของปี 56 สินเชื่อเพื่อเช่าซื้อรถยนต์ยังคงมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามยอดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศที่มีจำนวนถึง 412,680 คัน โดยคาดว่าภายในไตรมาส 2/56 จะมีการส่งมอบรถยนต์ในโครงการรถคันแรกได้เกือบทั้งหมด ทำให้ยอดขายส่วนใหญ่ประมาณ 2 ใน 3 ในปีนี้จะเกิดขึ้นภายในครึ่งแรกของปี
ขณะที่ยอดขายรวมในปี 56 คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณไม่ต่ำกว่า 1.2 ล้านคัน ส่งผลให้ยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อเช่าซื้อรถยนต์ในระบบสถาบันการเงินในปี 56 จะขยายตัวในทิศทางที่ชะลอลงเป็นประมาณ 20-25% เทียบกับอัตราการขยายตัว 34% ในปี 55 จากประมาณการเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวราว 27-33%
เหตุผลดังกล่าว ทำให้ผู้ประกอบการให้สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ต่างเตรียมรับมือกับภาวะสินเชื่อใหม่ที่ชะลอตัวลง ซึ่งจะปรากฏชัดเจนในช่วงครึ่งหลังของปี 56 ทั้งปัจจัยจากการส่งมอบรถยนต์ที่ชะลอตัว และจากฐานเปรียบเทียบที่สูงในช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ต้องขยายขอบเขตธุรกิจไปยังตลาดใหม่ อาทิ ตลาดสินเชื่อรถแลกเงิน และการรุกขยายสินเชื่อรถยนต์เฉพาะประเภทมากขึ้น ขณะที่ผู้ประกอบการสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์รายอื่น ต่างขยายตลาดของตนให้กว้างขึ้น ทั้งด้านเครือข่ายบริการให้ครอบคลุมพื้นที่ต่างจังหวัด และด้วยการรุกตลาดประเภทอื่น เช่น สินเชื่อรถจักรยานยนต์ สินเชื่อรถมือสอง และสินเชื่อรถแลกเงิน เป็นต้น
นายอิสระ กล่าวว่า ในปีนี้บริษัทจะเน้นการเพิ่มสัดส่วนยอดสินเชื่อรถกระบะให้มีความใกล้เคียงกับเสินเชื่อรถยนตร์ธรรมดา เนื่องจากกำไรสูงกว่าราว 0.6-0.8% อีกทั้งรถกระบะมีตลาดที่ใหญ่มากในประเทศ มีอัตราการใช้รถกระบะในต่างจังหวัดเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งมองว่ายังมีช่องว่างในการเติบโตของสินเชื่อรถกระบะอีกมาก โดยไตรมาส 1/55 สัดส่วนยอดสินเชื่อรถกระบะเพิ่มขึ้นเป็น 25-27%
ทั้งนี้ บริษัทยังคงเป้าหมายกำไรในปีนี้ไว้ที่ 468 ล้านบาท
“เรามองแนวโน้มถ้ากนง.มีการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง จะทำให้ครี่งปีหลังมีสัญญาณที่ค่ายรถยนตร์และดีลเลอร์ต่างๆจะมีการแข่งขันกันในเรื่องดอกเบี้ยมากขึ้น เนื่องจากในช่วงครึ่งปีหลังความต้องการซื้อรถยนต์ที่แท้จริงของประชาชนเริ่มลดลง จากการสิ้นสุดโครงการรถยนตร์คันแรก ทำให้ค่านรถยนตร์หรือตัวแทนจำหน่ายรถยนตร์ต้องมีการออกกลยุทธ์ทางการตลาดออกมาเพื่อกระตุ้นยอดขาย และก็จะมีการเสนอกับลีสซิ่งเพื่อที่จะเสนอโปรโมชั่นเกี่ยวกับดอกเบี้ยที่จะเป็นสื่งที่สามารถจูงใจให้มีลูกค้าเข้ามาซื้อรถมากขึ้น"นายอิสระ กล่าว