อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะการแข่งขันที่แข็งแกร่งในธุรกิจหลักของบริษัท ตลอดจนการมีธุรกิจที่หลากหลายพร้อมตราสินค้าที่มีชื่อเสียง รวมถึงความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งระหว่างบริษัทกับพันธมิตรธุรกิจและกลุ่มลูกค้า การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงยอดขายที่แข็งแกร่งของบริษัทที่เติบโตจากทุกสายผลิตภัณฑ์ และโอกาสทางการเติบโตในประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนด้วย
อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวมีข้อจำกัดบางประการจากภาวะการแข่งขันที่รุนแรง รวมถึงความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ภาระหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากการก่อหนี้เพื่อการขยายกิจการและความเสี่ยงจากการดำเนินงานในตลาดต่างประเทศ
ขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" แสดงถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถคงความแข็งแกร่งในการแข่งขันในสายธุรกิจหลักของบริษัทไว้ นอกจากนี้ ยังคาดหวังว่าบริษัทจะยังคงรักษาระดับอัตราการทำกำไรและเพิ่มความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดได้ต่อไป โดยการลงทุนหรือการขยายธุรกิจใดใดในอนาคตควรมีการพิจารณาอย่างรอบคอบและไม่ทำให้ความแข็งแกร่งทางการเงินลดลง
BJC มีประวัติการประกอบธุรกิจในประเทศไทยที่ยาวนานกว่า 1 ศตวรรษ ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเกิดขึ้นในปี 2544 เมื่อ บริษัท ทีซีซี โฮลดิ้ง จำกัด เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท โดย ณ เดือนมีนาคม 2556 กลุ่มบริษัททีซีซีมีสัดส่วนการถือหุ้น 70.06% ของหุ้นทั้งหมดของบริษัท ทั้งนี้ กลุ่มบริษัททีซีซีเป็นกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ของไทยที่ประกอบธุรกิจในอุตสาหกรรมหลากหลายประเภทโดยมี บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ เป็นบริษัทในเครือรายสำคัญที่ดำเนินธุรกิจเครื่องดื่ม
ธุรกิจของ BJC ครอบคลุมการจัดจำหน่ายและการผลิตสินค้าของบริษัทเองและให้บริการจัดจำหน่ายและผลิตสินค้าให้แก่บริษัทอื่น ๆ ปัจจุบันธุรกิจหลักของบริษัทแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มธุรกิจด้านบรรจุภัณฑ์ ซึ่งจำหน่ายสินค้าบรรจุภัณฑ์ประเภทขวดแก้วและกระป๋องอลูมิเนียม 2) กลุ่มสินค้าและบริการด้านอุปโภคบริโภค ซึ่งทำการผลิต ทำการตลาด และจำหน่ายสินค้าอุปโภคและบริโภคทั้งประเภทอาหารและของใช้ 3) กลุ่มสินค้าและบริการด้านสุขภาพและด้านเทคนิค ซึ่งเน้นสินค้าด้านเวชภัณฑ์ รวมถึงเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ สินค้าเคมีภัณฑ์พิเศษเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมและอาหาร สินค้าและอุปกรณ์กราฟิก อุปกรณ์เครื่องเขียน และอื่น ๆ 4) ธุรกิจอื่น ๆ ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มธุรกิจต่างประเทศ ร้านหนังสือเอเซีย บุ๊คส และธุรกิจสารสนเทศ
ในปี 2555 บริษัทมียอดขายทั้งสิ้น 37,429 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20% จากปี 2554 เนื่องจากการเติบโตในทุกสายธุรกิจหลัก โดยกลุ่มธุรกิจด้านบรรจุภัณฑ์เป็นสายธุรกิจที่สร้างรายได้ให้แก่บริษัทสูงสุดคิดเป็น 45% ของยอดขายรวม อีก 29.5% มาจากรายได้จากกลุ่มสินค้าและบริการด้านอุปโภคบริโภค และ 21.5% เป็นรายได้จากกลุ่มเวชภัณฑ์รวมกับกลุ่มสินค้าเทคนิค นอกจากนี้ กลุ่มธุรกิจด้านบรรจุภัณฑ์ยังเป็นธุรกิจหลักที่สร้างกำไรให้แก่บริษัทด้วย โดย 60% ของกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) มาจากกลุ่มธุรกิจนี้
สถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งของบริษัทได้รับแรงเสริมจากความหลากหลายของธุรกิจและแหล่งรายได้ บริษัทเป็น 1 ในผู้ผลิต 2 รายใหญ่ในประเทศในธุรกิจบรรจุภัณฑ์และธุรกิจสินค้าอุปโภคและบริโภค ธุรกิจสินค้าบรรจุภัณฑ์ยังได้รับแรงหนุนจากความต้องการสินค้าจำนวนมากอย่างต่อเนื่องของบริษัทไทยเบฟเวอเรจซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 40% ของยอดขายสินค้าบรรจุภัณฑ์
นอกจากนี้ คาดว่าการประสานพลังทางธุรกิจจะเพิ่มขึ้นจากการที่กลุ่มบริษัททีซีซีซื้อกิจการ Fraser and Neave Limited ซึ่งเป็นบริษัทที่มีฐานการดำเนินงานในประเทศสิงคโปร์ที่ประกอบธุรกิจในอุตสาหกรรมหลากหลายประเภท เช่น อาหารและเครื่องดื่ม อสังหาริมทรัพย์ และให้บริการด้านสื่อและสิ่งพิมพ์
สำหรับกลุ่มสินค้าและบริการด้านอุปโภคบริโภคของบริษัทประกอบด้วยตราสินค้าที่แข็งแกร่งหลากหลายตรา เช่น เซลล็อกซ์ ซิลค์ เทสโต โดโซะ นกแก้ว และแอคทีเวียซึ่งเป็นตราสินค้าที่ซื้อเข้ามาใหม่ บริษัทพยายามพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ออกสู่ตลาดเพื่อส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของบริษัทและปรับปรุงการทำกำไรให้ดียิ่งขึ้น
บริษัทมีกลยุทธ์การเติบโตโดยมุ่งเน้นการเป็นผู้ให้บริการกระจายสินค้าในระดับภูมิภาคโดยเริ่มจากแถบอินโดจีน ในขณะเดียวกันบริษัทยังคงมองหาโอกาสทางธุรกิจที่จะขยายกลุ่มผลิตภัณฑ์ของบริษัทออกไปด้วย ปัจจุบันบริษัทขยายสินค้าและบริการเข้าไปในตลาดมาเลเซีย เวียดนาม ลาว กัมพูชา และพม่า และในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เวียดนามเปรียบเสมือนพื้นที่กลยุทธ์ทางการลงทุนที่สำคัญของบริษัท
โดยเริ่มแรกบริษัทได้ร่วมลงทุนและบริหารโรงงานแก้วที่เวียดนามและมาเลเซียกับพันธมิตรธุรกิจคือ Owens-Illinois Inc. ซึ่งการดำเนินงานเป็นที่น่าพอใจ และเมื่อไม่นานมานี้ บริษัทยังได้ซื้อกิจการของบริษัทกระจายสินค้า 2 แห่ง โดยซื้อหุ้น 75% ใน Thai Corp International Vietnam Co., Ltd. เมื่อเดือนกันยายน 2553 และซื้อหุ้น 65% ใน Thai An Vietnam Joint Stock Company (Thai An) ในเดือนกุมภาพันธ์ 2556 บริษัทลูกทั้ง 2 แห่งนี้จะเพิ่มพื้นที่ทางการตลาดให้แก่บริษัททั่วประเทศเวียดนามด้วยจำนวนร้านค้าที่เข้าถึงราว ๆ 200,000 แห่ง ส่วนโครงการผลิตกระป๋องอลูมิเนียมในประเทศเวียดนามภายใต้การร่วมทุนกับ Ball Corporation (BALL) นั้นได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้วในเดือนพฤษภาคม 2555 นอกจากนี้ ในช่วงต้นปี 2556 บริษัทยังได้ลงทุนผ่าน BJC International Co., Ltd. ซึ่งเป็นบริษัท ลูกเพื่อซื้อหุ้น 75% ใน Ichiban Co., Ltd. (Ichiban) ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายเต้าหู้และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องในประเทศเวียดนามด้วย การลงทุนใน Thai An และ Ichiban คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1,130 ล้านบาท
สำหรับในประเทศไทย บริษัทได้ซื้อหุ้น 51% ใน บริษัท ดานอน แดรี่ (ประเทศไทย) จำกัด จาก Groupe Danone SA ในเดือนเมษายน 2555 โดยมีมูลค่าการลงทุนรวม 210 ล้านบาท บริษัทดานอน แดรี่ (ประเทศไทย) เป็นผู้ผลิตโยเกิร์ตและสินค้าประเภทนมภายใต้ตราสินค้า Danone และ Activia ซึ่งเป็นตราสินค้าระดับโลก การลงทุนนี้เป็นการเพิ่มกลุ่มอาหารเพื่อสุขภาพเข้ามาอยู่ในกลุ่มสินค้าของบริษัท ในขณะเดียวกันก็เป็นการเสริมความแข็งแกร่งให้แก่เครือข่ายกระจายสินค้าด้วย
ในปี 2555 รายได้จากตลาดต่างประเทศคิดเป็นประมาณ 12% ของยอดขายรวมของบริษัท รายได้จากตลาดต่างประเทศจะยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนืองในปี 2556 จากการรวมรายได้จากธุรกิจกระป๋องอลูมิเนียมและธุรกิจของ Thai An ในประเทศเวียดนามเข้ามา อย่างไรก็ตาม การซื้อกิจการอย่างต่อเนื่องทำให้บริษัทต้องเผชิญกับความท้าทายหลายประการ อาทิ การสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนให้ได้สูงสุด การผสานธุรกิจใหม่เข้ากับกลุ่มเพื่อให้เกิดประโยชน์เพิ่มขึ้น และการบริหารความเสี่ยงจากการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดต่างประเทศ เป็นต้น
ฐานะทางการเงินของบริษัทแสดงให้เห็นถึงยอดขายที่แข็งแกร่งจากทุกสายผลิตภัณฑ์ ตลอดจนระดับสภาพคล่องที่เพียงพอ และระดับภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้น การมีกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่กระจายตัวทำให้อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อยอดขายของบริษัทผันผวนอยู่ในช่วงแคบ ๆ อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานในปี 2556 ลดลงมาอยู่ที่ 12.5% จาก 15%-16% ในปี 2553 และ 2554 การลดลงดังกล่าวเกิดจากปัจจัยหลายประการ ได้แก่ ต้นทุนเริ่มธุรกิจกระป๋องอลูมิเนียมในเวียดนาม การขาดทุนใน บริษัทดานอน แดรี่ (ประเทศไทย) และอัตรากำไรที่ลดลงในโรงงานไทย มาลายา กลาส นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารต่อยอดขายก็เพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากในธุรกิจสินค้าและบริการด้านอุปโภคบริโภคและกลุ่มสินค้าและบริการด้านสุขภาพมีการแข่งขันที่รุนแรง อย่างไรก็ตาม การใช้อัตราการผลิตเต็มกำลังในโรงงานกระป๋องอลูมิเนียมในประเทศเวียดนามคาดว่าจะช่วยให้สถานะด้านต้นทุนของบริษัทปรับตัวดีขึ้นในปี 2556
เงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทค่อนข้างนิ่งอยู่ที่ระดับประมาณ 4,000 ล้านบาทในช่วงปี 2554 และ 2555 ระดับหนี้ของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 11,110 ล้านบาทในปี 2554 มาอยู่ที่ 13,171 ล้านบาทในปี 2555 เพื่อใช้เป็นเงินลงทุนซื้อกิจการและขยายกำลังการผลิตในธุรกิจบรรจุภัณฑ์เป็นสำคัญ เป็นผลทำให้ภาระหนี้สินของบริษัทซึ่งวัดจากอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนเพิ่มขึ้นจาก 43.3% ในปี 2554 เป็น 44.7% ในปี 2555 สภาพคล่องของบริษัทอ่อนตัวลงแต่ยังอยู่ในระดับที่เพียงพอ ด้วยอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายที่ลดลงมาอยู่ในระดับ 10.5 เท่าในปี 2555 จากระดับ 14.1 เท่าในปี 2554 และอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมอยู่ที่ระดับ 29.9% ในปี 2555 เมื่อเปรียบเทียบกับระดับ 36.1% ในปี 2554
บริษัทคาดว่าจะใช้ค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนในช่วงปี 2556-2558 ประมาณปีละ 4,000-7,000 ล้านบาท เพื่อลงทุนในการเพิ่มกำลังการผลิตสำหรับกลุ่มสินค้าบรรจุภัณฑ์ทั้งขวดแก้วและกระป๋องอลูมิเนียม รวมทั้งขยายกำลังการผลิตกระดาษทิชชูและย้ายโรงงานแก้ว นอกจากนี้ บริษัทยังมองหาโอกาสที่จะขยายเครือข่ายกระจายสินค้าด้วย ค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้ภาระหนี้สินของบริษัทเพิ่มสูงขึ้นอีกในระยะปานกลาง การซื้อกิจการใดใดด้วยการก่อหนี้จำนวนมากอาจทำให้ฐานะการเงินของบริษัทอ่อนแอลงและเพิ่มแรงกดดันต่ออันดับเครดิต ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดหวังให้บริษัทบริหารโครงสร้างเงินทุนให้ดีและรักษาระดับสภาพคล่องให้เพียงพอ