อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนโดยความอ่อนไหวในคุณภาพเครดิตของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย นอกจากนี้ บริษัทยังมีประวัติผลงานในกลุ่มลูกค้าและผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ยังไม่มากพอ โดยกลุ่มลูกค้าและผลิตภัณฑ์ใหม่นี้คาดว่าจะช่วยเพิ่มและสร้างเสถียรภาพให้แก่สถานะทางการแข่งขันและผลประกอบการทางการเงินของบริษัทในอนาคต ทั้งนี้ ความสำเร็จในระยะยาวจากความพยายามดังกล่าวของบริษัทยังคงเป็นประเด็นกังวลอยู่
ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าคณะผู้บริหารของบริษัทจะสามารถดำเนินกลยุทธ์ทางการตลาดและนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ได้อย่างเสมอต้นเสมอปลายเพื่อดำรงความมั่นคงของสถานะทางการตลาดของบริษัทเอาไว้ให้ได้ตามแผน อีกทั้งผลประกอบการทั้งด้านการดำเนินธุรกิจและฐานะการเงินจะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องและคุณภาพสินเชื่อจะได้รับการควบคุมให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้
พร้อมกันนี้ทริสเรทติ้งยังยกเลิก “เครดิตพินิจ" แนวโน้ม “Developing" หรือ “ไม่ชัดเจน" ซึ่งให้แก่อันดับเครดิตหุ้นกู้ของบริษัทตั้งแต่เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2555 โดยสืบเนื่องจากการที่ผู้ถือหุ้นอนุมัติให้บริษัทดำเนินการตามแผนการปรับโครงสร้างทางธุรกิจ คือ ให้บริษัทจำหน่ายลูกหนี้เช่าซื้อทั้งหมดแก่บริษัทย่อยซึ่งบริษัทถือหุ้นทั้งหมด คือ บริษัท ซิงเกอร์ ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งการจำหน่ายลูกหนี้ดังกล่าวอาจส่งผลให้เกิดการด้อยสิทธิทางโครงสร้าง (Structural Subordination) ในหนี้สินของบริษัท ซึ่งรวมทั้งหุ้นกู้ของบริษัทด้วย อย่างไรก็ตาม การด้อยสิทธิทางโครงสร้างก็บรรเทาลงจากโครงสร้างการให้เงินกู้ยืมจากบริษัทแก่บริษัทซิงเกอร์ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) ซึ่งจะช่วยยกระดับบุริมสิทธิในการเรียกร้องของบริษัทให้อยู่ในระดับเดียวกันกับเจ้าหนี้ของบริษัทซิงเกอร์ลีสซิ่ง (ประเทศไทย)
บมจ.ซิงเกอร์ ประเทศไทย ได้ดำเนินการปรับโครงสร้างของกลุ่มโดยการขายลูกหนี้เช่าซื้อทั้งหมดแก่บริษัทซิงเกอร์ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2555 โดยบริษัทเน้นทางด้านธุรกิจการค้า (Trading) ในขณะที่บริษัทซิงเกอร์ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) ดำเนินธุรกิจทางการเงินซึ่งส่งต่อลูกค้ามาจากธุรกิจการค้าของบริษัทแม่ ภายใต้โครงสร้างใหม่ สินทรัพย์ดำเนินงานส่วนใหญ่ของบริษัทถูกโอนย้ายไปยังบริษัทซิงเกอร์ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) การโอนย้ายดังกล่าวส่งผลให้บุริมสิทธิในการเรียกร้องในหนี้สินของบริษัทซึ่งรวมทั้งหุ้นกู้จะด้อยสิทธิกว่าหนี้ของบริษัทซิงเกอร์ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) เนื่องจากสินทรัพย์ดำเนินงานส่วนใหญ่อยู่ภายใต้บริษัทซิงเกอร์ลีสซิ่ง (ประเทศไทย)
อย่างไรก็ตาม บริษัทมีการให้เงินกู้ยืมแก่บริษัทซิงเกอร์ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) ในการซื้อลูกหนี้เช่าซื้อจากบริษัท โครงสร้างของเงินให้กู้ยืมแก่บริษัทลูกช่วยลดทอนการด้อยสิทธิทางโครงสร้างในหนี้สินของบริษัท และช่วยยกระดับเจ้าหนี้ของบริษัท โดยในฐานะผู้ถือหุ้นของบริษัทซิงเกอร์ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) บริษัทมีสิทธิเรียกร้องในส่วนที่เหลืออยู่ในทุนของบริษัทลูกแห่งนี้ อีกทั้งบริษัทยังมีสถานะเป็นเจ้าหนี้ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกับเจ้าหนี้ของบริษัทซิงเกอร์ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) ด้วย
ในปี 2553 บริษัทได้กลับมาเน้นการขายเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านซึ่งบริษัทมีประสบการณ์ที่ยาวนานโดยใช้กลยุทธ์ขยายตลาดให้ครอบคลุมกลุ่มลูกค้าผู้ประกอบการขนาดเล็ก บริษัทเพิ่มและเน้นจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เป็นเครื่องมือสร้างรายได้ให้แก่ผู้ซื้อ เช่น ตู้แช่ และเครื่องเติมเงินสำหรับโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยรายได้จากผลิตภัณฑ์ทั้ง 2 ประเภทนี้คิดเป็น 26% ของยอดขายรวมในปี 2553 และเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 60% ในปี 2554 และ 2555 บริษัทมียอดบัญชีสินเชื่อคงค้างเพิ่มขึ้นอีกครั้งในปี 2554 โดยมีจำนวนบัญชีเพิ่มขึ้นจาก 140,730 บัญชีในปี 2553 เป็น 143,099 บัญชีในปี 2554 จำนวนบัญชีเพิ่มขึ้นเป็น 161,811 บัญชีในปี 2555 หรือเพิ่มขึ้น 13.1% จากปี 2554 ลูกค้าเป้าหมายกลุ่มใหม่นี้จัดว่ามีคุณภาพสูงกว่ากลุ่มลูกค้าเป้าหมายทั่วไปของบริษัท นอกจากนี้ กลุ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ยังช่วยสร้างรายได้ให้แก่ลูกค้าซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการชำระหนี้และยกระดับคุณภาพสินเชื่อโดยรวมได้ด้วย อย่างไรก็ตาม เนื่องจากบริษัทเพิ่งจำหน่ายสินค้ากลุ่มใหม่นี้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ดังนั้น ความสำเร็จของกลยุทธ์ใหม่ที่จะช่วยให้บริษัทสร้างความมั่นคงให้แก่สถานะทางการตลาดและผลประกอบการยังต้องอาศัยเวลาในการพิสูจน์ต่อไป
ลูกหนี้เช่าซื้อของบริษัทมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องหลังจากบริษัทหันมาให้ความสำคัญกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายใหม่และผลิตภัณฑ์ประเภทใหม่ โดยลูกหนี้เช่าซื้อเพิ่มขึ้นจาก 1,164 ล้านบาทในปี 2553 เป็น 1,296 ล้านบาทในปี 2554 และ 1,624 ล้านบาทในปี 2555 ในปลายปี 2551 บริษัทได้จัดตั้งฝ่ายควบคุมสินเชื่อเพื่อตรวจสอบและวิเคราะห์ใบสมัครสินเชื่อ โดยแยกอำนาจการอนุมัติสินเชื่อออกจากพนักงานขายเพื่อสร้างระบบการตรวจสอบและถ่วงดุลโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะพัฒนาคุณภาพสินทรัพย์และมาตรฐานการปฏิบัติงาน ส่งผลให้อัตราส่วนลูกหนี้เช่าซื้อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อลูกหนี้เช่าซื้อรวมปรับตัวดีขึ้นจากระดับสูงที่ 34.2% ในปี 2550 เป็น 4.6% ณ สิ้นปี 2554 อัตราส่วนดังกล่าวปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยปรับลดลงเป็น 4.3% ในปี 2555 อัตราส่วนการเก็บเงินเฉลี่ย ณ ทุก ๆ สิ้นเดือนก็ปรับตัวดีขึ้นจากระดับต่ำที่ 69.5% ในปี 2550 เป็น 91.2% ในปี 2554 และ 93.1% ในปี 2555 อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา บริษัทได้เน้นการจำหน่ายผลิตภัณฑ์บางประเภทเป็นการเฉพาะ ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดหวังว่าบริษัทจะกระจายฐานลูกค้าเมื่อแยกตามประเภทของผลิตภัณฑ์เพื่อลดความเสี่ยงจากการกระจุกตัว
สถานะทางการเงินของบริษัทได้รับผลกระทบในปี 2549 และ 2550 เนื่องจากหนี้เสียจากสินเชื่อรถจักรยานยนต์ ส่งผลให้ฐานทุนของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยลดลงเป็น 624 ล้านบาทในปี 2550 จาก 2,299 ล้านบาทในปี 2548 บริษัทได้ใช้ความพยายามอย่างมากในการฟื้นฟูธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความแข็งแกร่งให้แก่กระบวนการและเกณฑ์การอนุมัติสินเชื่อให้มากขึ้น การเพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมการเก็บเงิน การลดค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่ไม่จำเป็น และการขยายประเภทผลิตภัณฑ์และฐานลูกค้า ส่งผลให้ความสามารถในการทำกำไรปรับเพิ่มขึ้นมากในปี 2554 โดยบริษัทมีผลกำไรสุทธิ 142 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 89 ล้านบาทในปี 2553 และผลขาดทุน 10 ล้านบาทในปี 2552 กำไรสุทธิปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็น 226 ล้านบาทในปี 2555 ซึ่งส่งผลให้อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยปรับเพิ่มเป็น 9.2% ในปี 2555 จาก 6.6% ในปี 2554 และ 4.2% ในปี 2553
ผลจากการปรับตัวดีขึ้นของความสามารถในการทำกำไรทำให้ฐานทุนของบริษัทปรับเพิ่มขึ้นเป็น 1,193 ล้านบาทในปี 2555 จาก 848 ล้านบาทในปี 2553 ส่งผลให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนลดลงเป็น 39.1% ในปี 2555 จาก 42.8% ในปี 2554 และ 49.3% ในปี 2553 อัตราส่วน ณ ปัจจุบันอยู่ในระดับที่เพียงพอให้บริษัทสามารถขยายธุรกิจต่อไปได้ ในปี 2555 บริษัทได้ชำระหนี้เงินกู้ทั้งหมดภายใต้สัญญาปรับปรุงการชำระหนี้ด้วยเงินที่ได้รับจากการออกหุ้นกู้ การชำระหนี้ดังกล่าวช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นทางการเงินให้แก่บริษัทเนื่องจากภายใต้สัญญาปรับปรุงการชำระหนี้บริษัทจะไม่สามารถระดมทุนโดยการกู้ยืมได้ใหม่หากปราศจากความยินยอมจากเจ้าหนี้ส่วนใหญ่
โครงสร้างใหม่ของกลุ่มบริษัทซิงเกอร์คาดว่าจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน โดยบริษัทจะเน้นธุรกิจการค้าและขยายตลาดให้ครอบคลุมกลุ่มลูกค้าเป้าหมายใหม่ ๆ โดยอาศัยตราสินค้า “ซิงเกอร์" ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี พร้อมเครือข่ายที่กว้างขวางด้วยจำนวนสาขา 204 แห่งและพนักงานขายประมาณ 3,500 คน ในขณะที่บริษัทซิงเกอร์ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จะเป็นผู้ให้บริการทางการเงินแก่ลูกค้าของบริษัทที่ซื้อสินค้าภายใต้ตราสินค้า “ซิงเกอร์" ในอนาคต บริษัทซิงเกอร์ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) คาดว่าจะสามารถให้บริการทางการเงินแก่ตราสินค้าอื่น ๆ โดยเฉพาะในเขตเมืองที่ผู้บริโภคมีอำนาจในการเลือกซื้อตราสินค้าที่ต้องการ โดยที่ความสำเร็จในโครงสร้างใหม่ของกลุ่มบริษัทยังคงต้องอาศัยเวลาในการพิสูจน์