นายพงศ์ศักติฐ์ เสมสันต์ กรรมการ AOT ในฐานะรักษาการผู้อำนวยการใหญ่ เปิดเผยว่า โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ปีงบประมาณ 2554-2560) เป็นโครงการเพิ่มขีดความสามารถของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 60 ล้านคนต่อปี จากเดิม 45 ล้านคนต่อปี มีงบประมาณเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 62,503.214 ล้านบาท มีระยะเวลาดำเนินการประมาณ 58 เดือนคาดว่างานก่อสร้างจะแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2559
ขณะนี้โครงการดังกล่าวมีความคืบหน้าอีกระดับหนึ่ง โดย ทอท.ได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา MAA 103 Group ซึ่งประกอบด้วย บริษัท เอ็ม เอ เอ คอนซัลแตนท์ จำกัด/ บริษัท ดีไซน์ 103 อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด/ HOK, Inc./ NACO, Netherlands Airport Consultants B.V./ BNP Associates, Inc./ บริษัท ไวส โปรเจ็ค คอนซัลติ้ง จำกัด เป็นที่ปรึกษาดำเนินงานออกแบบ งานอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 งานส่วนต่อเชื่อมอุโมงค์ด้านทิศใต้ และระบบขนส่งผู้โดยสาร(Automated People Mover ; APM) งบประมาณ 722 ล้านบาท โดยมีระยะเวลาการออกแบบ 10 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2556
ทั้งนี้ ทอท.ได้กำหนดขอบเขตให้ที่ปรึกษาออกแบบอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 เป็นอาคาร 4 ชั้น พื้นที่รวมประมาณ 216,000 ตารางเมตร มีประตูทางออกเชื่อมต่อหลุมจอดประชิดอาคาร 28 หลุมจอด งานออกแบบสิ่งก่อสร้างลานจอดอากาศยานประชิดอาคารเทียบเครื่องบินรวมพื้นที่ประมาณ 960,000 ตารางเมตร รวมทั้งออกแบบสิ่งก่อสร้างส่วนต่อเชื่อมอุโมงค์ด้านทิศใต้และระบบขนส่งผู้โดยสาร
นายพงศ์ศักติฐ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนั้น ทอท.ยังได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา PSS Consortium ซึ่งประกอบด้วย 3 บริษัท ได้แก่บริษัท โปรเกรส เทคโนโลยี คอนซัลแท็นส์ จำกัด, บริษัท สแปน จำกัด, บริษัท เซ้าท์อี๊สท์เอเชียเทคโนโลยี่ จำกัด เป็นที่ปรึกษาดำเนินงานออกแบบงานระบบสาธารณูปโภค งบประมาณ 63,970,000 บาท โดยมีระยะเวลาการออกแบบ 10 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2556 โดยที่ปรึกษาจะต้องออกแบบระบบไฟฟ้าแรงสูง ระบบประปา ระบบน้ำเย็นสำหรับเครื่องปรับอากาศและระบบบำบัดน้ำเสีย เป็นต้น
อนึ่ง เมื่อกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาได้ออกแบบงานอาคารและออกแบบงานระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ในโครงการดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว คาดว่า ทอท.จะเริ่มคัดเลือกผู้รับจ้างก่อสร้างภายในเดือนมีนาคม 2557 ซึ่งขณะนี้งานต่างๆ ยังเป็นไปตามแผนงานเดิมที่ได้กำหนดไว้
ด้านนาวาอากาศตรีศิธา กล่าวว่า ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา สนามบินดอนเมืองมีผู้โดยสารประมาณ 50,000 คน/วัน คาดว่าจนถึงสิ้นปีจะแตะ 17 ล้านคนได้ ซึ่งเท่ากับว่าจะสามารถผ่อนถ่ายผู้โดยสารจากสุวรรณภูมิไปสนามบินดอนเมืองได้พอสมควร ขณะนี้ก็มีสายการบินอื่นๆ แจ้งความจำนงในการย้ายเข้ามาบ้างแล้ว ซึ่งก็จะอยู่ในเครือข่าย เช่น กลุ่มวันเวิลด์
"ในเมื่อสุวรรณภูมิของเราขณะนี้ค่อนข้างแออัด ซึ่งสิ้นปี สุวรรณภูมิจะมีผู้โดยสาร 50 กว่าล้านคน ก็มีความจำเป็นที่จะต้องผ่อนถ่ายไปยังดอนเมือง และอาจจะมีการพูดคุยกันกับสายการบิน ประกอบกับต้องมีการประสานงานขนส่งเชื่อมต่อของ 2 สนามบินในการให้บริการให้ดีด้วย"
ส่วนการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าหากท่าอากาศสุวรรณภูมิที่ขณะนี้รองรับได้ 45 ล้านคนมีความแออัด ล่าช้า คงต้องเร่งปรับปรุงการบริการทั้งในส่วนของตำรวจตรวจคนเข้าเมืองและการขนส่งกระเป๋า โดยจะนำเทคโนโลยีระบบตรวจคนเข้าเมืองที่มีความทันสมัยมากขึ้นมาใช้ เช่น ผู้โดยสารที่เป็นคนไทย อาจจะมีการทำระบบการ์ดหรือสมาร์ทการ์ดที่สามารถเดินผ่านตม.ได้เลย และพาสปอร์ตก็นำไปใช้ในสนามบินต่างประเทศ หรือ อย่างในฮ่องกง ที่มีบาร์โค้ด ติดไว้กับพาสปอร์ต สำหรับชาวต่างชาติที่เข้าฮ่องกงเกิน 3 ครั้ง/ปีก็สามารถเดินผ่าน ตม.ได้เลย
นอกจากนี้หากมีการทำในลักษณะดังกล่าว จะเป็นการทำทั้งระบบบาร์โค้ด และระบบการ์ด ซึ่งระบบการเชื่อมต่อเช็คอินผู้โดยสารและระบบตรวจคนเข้าเมืองต้องเชื่อมต่อกันให้ดี เนื่องจากผู้ที่มีบาร์โค้ดเดินผ่าน เครื่องต้องรับรู้ได้ว่าบุคคลนี้ผ่านการเช็คอินมาเรียบร้อยแล้ว หากทำได้ขั้นตอนของการตรวจคนเข้าเมืองจะเร็วมากขึ้น ซึ่งระยะเวลาในการตรวจจะอยู่ที่ 10 วินาที/คน
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อยู่ระหว่างตั้งคณะกรรมการและหารือร่วมกันระหว่าง กรมศุลกากร การท่าอากาศยาน ตม.และหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อดูว่า ใบตม.6 หากมีการยกเลิกจะมีอย่างอื่นมาทดแทนได้หรือไม่ และถ้าจะดำเนินการออกบัตรสามารถทำพร้อมกับทำพาสปอร์ตได้หรือไม่