สำหรับพันธบัตรรัฐบาล รุ่นที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรกคือรุ่น LB155A (อายุ 2.1 ปี) LB236A (อายุ 10.1 ปี) และ LB176A (อายุ 4.1 ปี) โดยมีมูลค่าการซื้อขายในแต่ละรุ่นเท่ากับ 32,092 ล้านบาท 31,732 ล้านบาท และ 25,048 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนพันธบัตรที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย รุ่นที่มีปริมาณซื้อขายสูงสุด 3 อันดับแรก คือรุ่น CB13528A (อายุ 14 วัน) CB13606C (อายุ 28 วัน) และ CB13905A (อายุ 1 ปี) มูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 51,757 ล้านบาท 28,710 ล้านบาท และ 13,101 ล้านบาท ตามลำดับ
ขณะที่หุ้นกู้ภาคเอกชน ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ หุ้นกู้ของบริษัท โตโยต้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด รุ่น TLT138A (AAA) มูลค่าการซื้อขาย 896 ล้านบาท หุ้นกู้ของบริษัท อยุธยา แคปปิตอล ออโต้ ลีส จำกัด (มหาชน) รุ่น AYCAL145A (A+) มูลค่าการซื้อขาย 786 ล้านบาท และหุ้นกู้ของบริษัท เหมราชพัฒนาที่ดิน จำกัด (มหาชน) รุ่น HEMRAJ231A (A-) มูลค่าการซื้อขาย 436 ล้านบาท
เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield Curve) ปรับตัวลดลงตลอดทั้งเส้นในช่วงประมาณ -1 ถึง -6 Basis Point (100 Basis point มีค่าเท่ากับ 1%) โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อตลาดตราสารหนี้ไทยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ยังคงเป็นประเด็นที่เกี่ยวกับกระแสข่าวการออกมาตรการเพื่อแก้ปัญหาการแข็งค่าของเงินบาท และมาตรการควบคุมการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างชาติ โดยประเด็นเรื่องการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อชะลอการไหลเข้าของเงินทุน เริ่มกลับมาเป็นที่คาดการณ์ของนักลงทุนในตลาดอีกครั้งหนึ่ง โดยในส่วนของ ธปท. ก็ยืนยันว่าพร้อมที่จะทบทวนเกี่ยวกับระดับของอัตราดอกเบี้ย หากเงินบาทมีความผันผวนผิดปกติจนกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ทั้งนี้ มีการนัดประชุมพิเศษระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง และภาคอุตสาหกรรม ในวันจันทร์ที่ 13 พ.ค.นี้ ซึ่งตลาดคาดว่าน่าจะมีการหารือถึงความเป็นไปได้ในการปรับลดดอกเบี้ย ปัจจัยต่างๆเหล่านี้ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลในสัปดาห์นี้ปรับตัวลดลงตลอดทั้งเส้น
ในสัปดาห์นี้นักลงทุนต่างชาติมียอด ซื้อสุทธิ ในตราสารหนี้ทุกประเภท (ทั้งระยะสั้น และระยะยาว) รวมกันกว่า 5,887 ล้านบาท แต่หากพิจารณาเฉพาะการซื้อขายในตราสารหนี้ระยะยาว (อายุคงเหลือมากกว่า 1 ปี) จะพบว่าเป็นการซื้อสุทธิ เพียง 2,346 ล้านบาท ขณะที่อีกกว่า 3,541 ล้านบาทเป็นการซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น (อายุคงเหลือน้อยกว่า 1 ปี) ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่านักลงทุนต่างชาติเริ่มหันมาลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นเพิ่มมากขึ้นอีกครั้ง หลังจากที่ในช่วง 1 — 2 เดือนที่ผ่านมา นักลงทุนกลุ่มนี้เน้นการลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาวเป็นหลัก โดยกระแสข่าวเกี่ยวกับการออกมาตรการควบคุมการไหลเข้า-ออกของเงินทุน มีผลทำให้นักลงทุนต่างชาติเริ่มปรับกลยุทธ์การลงทุน ซึ่งเป็นที่น่าสนใจติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไปว่าการดำเนินมาตรการใดๆก็ตาม จะมีผลอย่างไรต่อนักลงทุนกลุ่มนี้ และจะส่งผลอย่างไรต่อตลาดตราสารหนี้โดยรวมหรือไม่ สำหรับนักลงทุนรายย่อยแม้จะมีสัดส่วนการซื้อขายค่อนข้างน้อย แต่ในสัปดาห์นี้ยังคงมียอดซื้อสุทธิ 103 ล้านบาท