โดยเฉพาะจะรับรู้รายได้จาก ธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นธุรกิจของบริษัท กันกุล พาวเวอร์เจน จำกัด(GPG) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ GUNKUL สามารถดำเนินการผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์ทั้งหมดจำนวน 6 สัญญา กำลังการผลิตไฟฟ้ารวมที่ได้รับการอนุมัติคือ 30.9 เมกะวัตต์ให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.)ได้ทั้งหมดภายในเดือนพฤษภาคมนี้ โดยจะทยอยรับรู้รายได้เข้ามาทันทีในปีนี้
ทั้งนี้ อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนของบริษัทคงเหลือเพียง 0.66 เท่า ซึ่งจะเป็นส่วนสนับสนุนสำคัญที่ทำให้บริษัทสามารถดำเนินการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมขนาด 60 MW ที่ ตำบลห้วยบง อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา และคาดว่าจะได้รับสนับสนุนเงินกู้โครงการเสร็จสิ้นได้ในราวเดือนกันยายน 2556 นี้ด้วย
อย่างไรก็ตามบริษัทยังคงมีแผนในการลงทุนด้านพลังงานทดแทนทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งหลายๆ โครงการอยู่ระหว่างการเจรจา เพื่อเพิ่มศักยภาพของธุรกิจให้เติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง อันจะนำไปสู่การสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้นในอนาคต โดยตั้งเป้ารายได้ปีนี้จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 10% ซึ่งทยอยรับรู้รายได้จากงานในมือ (Backlog) ที่ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 1,200 ล้านบาท ขณะเดียวกัน GUNKUL ยังเดินหน้าหางานใหม่ๆ เพิ่มอย่างต่อเนื่องเพื่อผลักดันให้ Backlog สูงขึ้น
ผลประกอบการงวดไตรมาส 1/56 สิ้นสุด วันที่ 31 มี.ค.56 ของบริษัทและบริษัทย่อยว่ามีผลกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จสำหรับงวดจำนวน 672.72 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันกับปีก่อนที่มีผลกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จจำนวน 339.63 ล้านบาท โดยมีกำไรเพิ่มขึ้นจำนวน 333.09 ล้านบาท คิดเป็นเพิ่มขึ้นร้อยละ 98.07
สำหรับสาเหตุที่ผลประกอบการไตรมาส 1/56 ของกลุ่มบริษัท GUNKUL โดดเด่นขึ้นอย่างมาก เนื่องจากกลุ่มบริษัทมีรายได้รวมจำนวน 1,711.27 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันกับปีก่อน ซึ่งมีรายได้รวมจำนวน 1,388.64 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 322.63 ล้านบาท คิดเป็นเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.23 เนื่องจากมีการรับรู้รายได้เพิ่มขึ้นและเป็นสาระสำคัญจากกำไรจากการจำหน่ายเงินลงทุนในบริษัท กันกุล พาวเวอร์เจน จำกัด ให้กับบริษัท ชูบุ อีเล็คทริค เจ็ม.บี.วี. ในสัดส่วนร้อยละ 49 ของทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้ว จำนวน 775.04 ล้านบาท (ทั้งนี้ ได้รวมผลกำไรส่วนที่เกิดจากการรับรู้มูลค่าเงินลงทุนในบริษัทดังกล่าวด้วยมูลค่ายุติธรรม ณ วันที่โอนจำหน่ายเงินลงทุนให้กับผู้ร่วมทุนและขาดซึ่งอำนาจในการควบคุม 437.12 ล้านบาท)
นอกจากนี้ในส่วนของค่าใช้จ่ายในการบริหารได้ลดลงมาอยู่ที่จำนวน 72.08 ล้านบาท จากงวดเดียวกันกับปีก่อน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการบริหารจำนวน 87.65 ล้านบาท หรือลดลงจำนวน 15.57 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 17.76 ขณะที่ต้นทุนทางการเงินลดลงมาอยู่ที่จำนวน 21.06 ล้านบาท จากงวดเดียวกันกับปีก่อน ซึ่งมีต้นทุนทางการเงินจำนวน 34.05 ล้านบาท หรือลดลง 12.99 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ38.15