ด้าน นพ.กำพล พลัสสินทร์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.โรงพยาบาลจุฬารัตน์ เปิดเผยว่า จากที่บริษัทฯมีการเติบโตของทั้งรายได้และกำไร เป็นสาเหตุมาจากหลายๆส่วน ทั้งการเติบโตจากการที่มีการเข้ามาทำประกันสังคมกับทางโรงพยาบาลเพิ่มมากขึ้น และการที่มีบริษัทมีประกันชีวิตเข้ามาติดต่อเพื่อเป็นโรงพยาในเครือของบริษัทประกันมากขึ้น รวมถึงการที่โรงพยาบาลมีชื่อเสียงเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีประชาชนเข้ามาใช้บริการเพิ่มมากขึ้น
"จากที่บริษัทฯของเรามีการเติบโตมาตลอด รวมถึงจะมีการขยายกิจการอย่างต่อเนื่อง ทำให้มั่นใจว่านักลงทุนจะมองเห็นถึงศักยภาพของบริษัทฯ ที่จะเติบโตต่อได้ และจะสามารถทำให้หุ้นสามารถเปิดตัวในราคาเหนือจองได้"น.พ.กำพล กล่าว
น.พ.กำพล ยังกล่าวว่า โรงพยาบาลได้เปิดบริการสายด่วนโรคหัวใจ 1609 เป็นแห่งแรก ซึ่งเป็นบริการเสริมของศูนย์เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจที่มีอยู่ โดยโรงพยาบาลจะจัดรถฉุกเฉิน 4 คันที่มีเครื่องมือพร้อมรักษาอาการเบื้องต้นให้กับผู้ที่มีอาการหัวใจวายประจำอยู่ใน 3 จุด ของเครือข่ายโรงพยาบาลที่มีอยู่ และพร้อมจะรับตัวผู้ป่วยเข้ามารักษาทั้งที่โรงพยาบาลในเครืองและโรงพยาบาลอื่น โดยการรักษาของผู้ป่วยที่อยู่ในระบบ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)ก็จะได้รับค่าใช้จ่ายรายหัวจากภาครัฐด้วย
นอกจากนั้น เครือโรงพยาบาลจุฬารัตน์ยังมองโอกาสขยายธุรกิจในอนาคตทั้งในรูปแบบการลงทุนด้วยตัวเอง ซึ่งขณะนี้ได้ซื้อที่ดินไว้แล้วในจังหวัดฉะเชิงเทรา รวมถึงการเข้าซื้อกิจการอย่างเป็นมิตรในธุรกิจโรงพยาบาลที่มีปัญหาในการบริหาร ขณะนี้ได้มีการเจรจาเบื้องต้นกับโรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน อ.วังน้ำเขียวไว้บ้างแล้ว และอยู่ระหว่างศึกษาการปรับปรุงโรงพยาบาลดังกล่าวเป็นศูนย์รักษาโรคเฉพาะทาง โดยหากเห็นว่ามีความเป็นไปได้ก็จะพิจารณาลงทุนต่อไป
อย่างไรก็ตาม น.พ.กำพล กล่าวว่า เครือจุฬารัตน์ไม่มีนโยบายที่จะขายหุ้นให้กับเครือโรงพยาบาลขนาดใหญ่ แต่ต้องการคงอำนาจการบริหารและกำหนดทิศทางการดำเนินธุรกิจโรงพยาบาลของตนเอง ซึ่งมีจุดเด่นในการเป็นโรงพยาบาลในระดับกลาง
อนึ่ง บมจ.โรงพยาบาลจุฬารัตน์ (CHG) เป็นโรงพยาบาลที่มีจำนวน 386 เตียง เป็นผู้เล่นที่สำคัญในตลาดระดับล่างถึงกลาง ครอบคุมพื้นที่กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก และจังหวัดใกล้เคียง ได้แก่ จ.สมุทรปราการ รวมถึงพื้นที่บริเวณใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ และจ.ฉะเชิงเทรา ภายใต้แบรนด์ "จุฬารัตน์" ด้วยมีโรงพยาบาล 3 แห่ง และมีสาขาสถานพยาบาลและคลินิก 7 แห่ง ซึ่งดำเนินงานใกล้เต็มขีดความสามารถในการรองรับผู้ป่วยในที่ 84% CHG ให้บริการผู้ป่วยเงินสด และผู้ป่วยภายใต้โครงการประกันสังคม (SSS) (ใหญ่สุดเป็นอันดับสองรองจาก BCH)
บริษัทฯ มีแผนจะระดมทุนผ่าน IPO เพื่อขยายขีดความสามารถในการให้บริการผู้ป่วยในราว 41% และผู้ป่วยนอกราว 56% เป็น 544 เตียง และห้องผู้ป่วยนอก 87 ห้อง เป็น 136 ห้อง ภายในปี 59 โดยเป็นการขยายจาก 2 โรงพยาบาลหลักเดิม (จุฬารัตน์ 3 และ 11) และสร้างโรงพยาบาลใหม่ใกล้โรงพยาบาลหลักอีกแห่ง (จุฬารัตน์ 9) การขยายตัวจะเน้นไปที่ผู้ป่วยเงินสด คาดว่าจะใช้เงินทุนราว 950 ล้านบาท
นอกจากเป็นโรงพยาบาลทั่วไปแล้ว CHG ยังมีความเชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมทางมือ และศัลยกรรมโดยใช้กล้องจุลทรรศน์, ผู้ป่วยทารกแรกเกิดระยะวิกฤต (NICU) - การดูแลทารกเกิดใหม่ที่มีน้ำหนักน้อย, โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง
กลุ่มเป้าหมายของ CHG เชื่อมโยงกับตลาดในสองจังหวัด ซึ่งมีนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่งโรงงานนอกนิคมอุตสาหกรรม และพื้นที่อยู่อาศัย บริษัทฯ เจาะกลุ่มผู้มีรายได้ต่ำถึงปานกลาง, คนงานในโรงงาน และกลุ่มลูกค้าองค์กรในนิคมอุตสาหกรรม ตัวอย่างเช่น บริษัทในนิคมอุตสาหกรรมซึ่งได้ทำประกันกลุ่มสำหรับพนักงานหรือคนงาน ซึ่งมีสิทธิในการรับบริการทางการแพทย์ภายใต้โครงการประกันสังคมด้วยเช่นกัน จ. สมุทรปราการเป็นพื้นที่ที่มีโรงงานจำนวนมาก และมีพื้นที่อยู่อาศัย ในขณะที่ จ. ฉะเชิงเทรา อยู่กลางทางไปนิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์น ซีบอร์ด ซึ่งระหว่างทางมีนิคมอุตสาหกรรมจำนวนมาก
หลังจากการเพิ่มทุน ผู้ถือหุ้นใหญ่ 2 ราย(ผู้ก่อตั้ง และทีมบริหาร) ซึ่งได้แก่ครอบครัวพลัสสินทร์ จะถือหุ้นในสัดส่วนที่ลดลงจาก 51% เป็น 40% และครอบครัวปัญญาพล จะลดลงจาก 32% เป็น 26%