TMCตั้งเป้ารายได้ปี56 โตไม่ต่ำกว่า 25%จากปีก่อน พร้อมวางแผนเจาะอาเซียน

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday May 20, 2013 13:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุรเชษฐ์ กมลมงคลสุข ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ที.เอ็ม.ซี. อุตสาหกรรม(TMC)เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้าหมายการเติบรายได้ปีนี้ไม่ต่ำกว่า 25% จากปีก่อนที่มีรายได้รวมอยู่ที่ 1,002 ล้านบาท หลังจากผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 1/56 บริษัทมีกำไรสุทธิ 16.13 ล้านบาท เทียบกับงวดเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 5.11 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 215.88 เนื่องจากรายได้จากการขายและบริการเพิ่มขึ้นจาก 141.14 ล้านบาท เป็น 167.89 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.96 จากยอดคำสั่งซื้อค้างส่งที่มีปริมาณสูงตั้งแต่ปีที่ผ่านมา จากการปรับเปลี่ยนโฉมยานยนต์จากรุ่นเดิมของค่ายรถยนต์ต่างๆ ประกอบกับสามารถบริหารต้นทุนในการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการลดลงของต้นทุนทางการเงิน จึงส่งผลให้กำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นและต้นทุนทางการเงินลดลง

สำหรับกลยุทธ์ทางธุรกิจ นายสุรเชษฐ์ กล่าวว่า จากแนวโน้มการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ปี 2558 ทำให้มีโอกาสทางด้านธุรกิจเพิ่มมากขึ้น จึงได้วางกลยุทธ์เพื่อเตรียมความพร้อมในการขยายฐานเข้าสู่ตลาดดังกล่าว โดยเฉพาะในภูมิภาคอินโดจีน เพื่อเป็นการขยายฐานการตลาดและเพิ่มสัดส่วนรายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในต่างประเทศ

บริษัทฯ จะมุ่งเน้นจุดแข็งและศักยภาพความแข็งแกร่งทางธุรกิจเพื่อรองรับภาวะการแข่งขันที่จะมีมากขึ้น สู่การเติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยการพัฒนาธุรกิจและนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เป็นมูลค่าเพิ่ม (Value-Added) ให้กับลูกค้า อาทิ ธุรกิจซื้อมาขายไป (Trading) , ระบบป้อนงานอัตโนมัติ (Automation) , การบริการ และการบำรุงรักษาเชิงป้องกัน (Service and Preventive Maintenance) รวมถึงแผนงานในการเข้าสู่ตลาดอาเซียน (Road to Asian Project) เพื่อสอดรับกับวิสัยทัศน์บริษัทในการมุ่งสู่การเป็น World Class Manufacturing ที่มุ่งเน้นการเป็นผู้นำการสร้างนวัตกรรมด้านการออกแบบและผลิตเครื่องจักร เครื่องทุ่นแรง ที่สร้างมูลค่าเพิ่ม ภายใต้การผสานทุนทางปัญญาและเทคโนโลยีล้ำสมัยอย่างกลมกลืน นำมาซึ่งคุณค่าที่ลูกค้าต้องการด้วยมาตรฐานระดับสากล

TMC มีจุดเด่นจากทีมผู้บริหารที่มีประสบการณ์ที่อยู่ในแวดวงธุรกิจด้านดังกล่าวเป็นเวลานาน รวมถึงทีมที่ปรึกษาที่มีประสบการณ์ทั้งด้านการตลาด อุตสาหกรรมการผลิต และด้านอื่นๆ ด้วยแบรนด์ที่เป็นของตนเอง ทำให้มีความสามารถเหนือกว่าคู่แข่ง โดยเฉพาะด้านราคาและการบริการ ตลอดถึงความยืดหยุ่นในการผลิตค่อนข้างสูง มีโปรแกรมสำเร็จรูปทางด้านวิศวกรรมและบริหารการจัดการทรัพยากร (ERP) ที่ใช้ติดตามและควบคุมกระบวนการทำงานและต้นทุน และจุดแข็งด้านการเงิน และที่ผ่านมาได้ระดมทุนจากตลาดหลักทรัพย์ ทำให้มีภาระด้านดอกเบี้ยต่ำและสภาพคล่องทางการเงินที่ดีขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ