TVD ระบุว่าแผนยุทธศาสตร์ 4 ด้าน 18 แผนย่อย มุ่งสร้างรายได้ต่อเนื่อง เพิ่มความแข็งแกร่ง เติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมผนึกพันธมิตรตั้งรับทุนต่างชาติ คาดว่าจะเห็นข้อสรุปการเจรจาร่วมทุนและร่วมธุรกิจทั้งไทยและต่างประเทศหลายดีลภายในปีนี้
"ปีนี้เราเตรียมความพร้อม ปีหน้าจะพร้อมมาก ๆ ในการลุยศึกเมื่อกลุ่มทุนต่างชาติเข้ามาจะทำให้ธุรกิจโฮมช้อปปิ้งในประเทศไทยมีขนาดใหญ๋ ขณะเดียวกันกลุ่มทุนเหล่านี้จะใช้ประเทศไทยเป็นฐานในการเข้าสู่อาเซียน ทำให้ตลาดยังเติบโตได้อีกมาก"นายทรงพล กล่าว
ทั้งนี้ บริษัทจะเสนอแผนเพิ่มทุนที่ประกอบด้วยการออกหุ้นเพิ่มทุนจาก 376 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้(พาร์)หุ้นละ 0.50 บาท คิดเป็นมูลค่า 188 ล้านบาท เป็น 493.50 ล้านหุ้น คิดเป็นมูลค่า 246.75 ล้านบาท โดยจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุน 117.5 ล้านหุ้น เสนอขายให้ผู้ถือหุ้นเดิม 94 ล้านหุ้น สัดส่วน 4 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่ ราคาหุ้นละ 4.50 บาท
และจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 23.5 ล้านหุ้น รองรับการใช้สิทธิแปลงสภาพใบสำคัญแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นสามัญ(วอแรนท์)ที่บริษัทจัดสรรให้ผู้ที่ใช้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุน ได้รับวอแรนท์ในอัตราส่วน 4 หุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อ 1 วอแรนท์ วอแรนท์ดังกล่าวมีอายุ 3 ปี ใช้สิทธิแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญปีละ 2 ครั้ง อัตราส่วน 1 วอแรนท์ต่อ 1 หุ้นสามัญ ที่ราคาหุ้นละ 3.50 บาท
นายทรงพล กล่าวว่า บริษัทตัดสินใจเพิ่มทุนอีกครั้งหลังจากที่เพิ่งเพิ่มทุนเพื่อกระจายหุ้นเสนอขายประชาชนทั่วไปครั้งแรก(IPO)เมื่อปีก่อน เนื่องจากบริษัทต้องการเสริมความความแข็งแกร่งของฐานะการเงินและการจัดหาแหล่งเงินทุน จากทิศทางธุรกิจที่มีการขยายตัวสูง ทำให้เงินทุนจากการเติบโตของธุรกิจที่ในปีนี้ ซึ่งขณะนี้บริษัทจึงมีการเจรจากับพันธมิตรที่มีชื่อเสียงหลายราย เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายและเพิ่มความหลากหลายของสินค้าให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม
"ผู้ถือหุ้นใหญ่ทุกรายพร้อมสนับสนุนการเพิ่มทุนครั้งใหม่ ผมมั่นใจว่าการเพิ่มทุนครั้งนี้สำเร็จแน่นอน เพราะหุ้นส่วนใหญ่กว่า 70% อยู่ในมือผู้ถือหุ้นใหญ่ และถ้ามีหุ้นเหลือก็พร้อมจะรับซื้อ...เราคิดว่าจะระดมทุน 500 ล้านบาทมาใช้ตามแผนยุทธศาสตร์"นายทรงพล กล่าว
แผนยุทธศาสตร์ของบริษัทจะเสริมสร้างรายได้อย่างหลากหลายและต่อเนื่อง เน้นการขยายฐานะกรตลาดและใช้ฐานข้อมูลลูกค้าที่มีจำนวน 2.1 ล้านรายในขณะนี้ เพื่อเพิ่มฐานลูกค้าใหม่ไม่ต่ำกว่าปีละ 5 แสนราย ผ่านทางสื่อต่าง ๆ อาทิ ฟรีทีวี ทีวีดาวเทียม เคเบิ้ลทีวี รวมถึงดิจิตอลทีวี โดยบริษัทมีเป้าหมายฐานลูกค้าเพิ่มเป็น 5 ล้านรายภายในปี 59 ขยายร้านค้าปลีก 100 ร้านค้าภายใน 2-3 ปีข้างหน้า จากปัจจุบัน 77 ร้านค้า เพิ่มสินค้ามาร์จิ้นสูง และเพิ่มการขายผ่านอินเตอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือให้มีสัดส่วนเป็น 30% ต่อปี
นายทรงพล กล่าวว่า ในส่วนของยุทธศาตร์สร้างการเติบโตด้วยการร่วมลงทุนกับพันธมิตรและการรวมกิจการ เพื่อให้บริษัทเติบโตได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงเกิดการแลกเปลี่ยนโนว์ฮาวระหว่างกัน โดยบริษัทมีการเจรจากับพันธมิตรหลายราย ได้แก่ บริษัทมีเป้าหมายร่วมทุนกับบริษัทต่างประเทศที่มีธุรกิจโฮมช้อปปิ้งมากกว่า 1 ราย, ร่วมกับบริษัทต่างชาติที่มี know how ได้แก่ JML จากอังกฤษ จะเริ่มภายใน 2 เดือนจะเริ่มขายสินค้าของ JML, ร่วมทุนในธุรกิจสื่อทีวีราว 3-5% ซึ่งขณะมีการเจรจาอยู่หลายราย และยังมีการเจรจากับผู้ประกอบการโฮมช้อปปิ้งในเกาหลี ญี่ปุ่น และไต้หวัน เพื่อแสวงหาความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างกัน
ตามยุทธศาสตร์ดังกล่าวคาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 170 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้มีการเจรจาในลักษณะการร่วมทุน 4 ดีล คาดว่าภายในไตรมาส 3/56 น่าจะได้ข้อสรุปราว 1 ดีล และภายในไตรมาส 4/56 น่าจะมีข้อสรุปอีก 1 ดีล โดยผู้ประกอบการทั้งไทยและต่างประเทศ ขณะนี้บริษัทมีการเจรจากับผู้ประกอบการต่างประเทศ 2 รายที่สนใจเข้ามาร่วมทุนกับบริษัท จึงต้องพิจารณาในรายละเอียดเพื่อคัดเลือก 1 ราย ซึ่งบริษัทเปิดกว้างในแนวทางร่วมมือกันไม่ว่าจะเข้ามาถือหุ้นในบริษัทหรือจัดตั้งบริษัทร่วมทุน แต่ผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทยืนยันที่จะคงสัดส่วนหุ้นไม่ต่ำกว่า 55%
ล่าสุด บริษัทได้ร่วมกับ Fuji TV และผู้ประกอบการทีวี ช้อปปิ้ง จากประเทศญี่ปุ่น ไต้หวัน และเกาหลี เพื่อร่วมกันผลิตรายการเอเชีย ช้อปปิ้ง คิงส์ ซึ่งเป็นเปิดตลาดและสร้างโอกาสการขายสินค้าที่มาจากความคิดสร้างสรรค์ของไทยไปสู่สายตาลูกค้าในเอเชียที่จะเริ่มออกอากาศที่ประเทศญี่ปุ่นในเดือนเม.ย.-ก.ย. และจะนำเทปรายการมาดัดแปลงรูปแบบรายการเพื่อเผยแพร่ในประเทศไทยในช่วงเดือน ก.ค.-ธ.ค.เพื่อให้กลุ่มโอกาสเลือกซื้อสินค้าที่ออกอากาศในครั้งนี้ด้วย
"ใน 5 ปีข้างหน้าเราคงไม่มีการเพิ่มทุนเพื่อหาเงินทุนอีก แต่ถ้าจะเพิ่มทุนคงเป็นเหตุผลพิเศษอื่น...เราศึกษาการใช้เครื่องมือทางการเงินอื่น อาจจะออกหุ้นกู้ได้ใน 2-3 ปีข้างหน้า"นายทรงพล กล่าว
นายทรงพล กล่าวว่า ผู้ประกอบการต่างประเทศเข้ามารุกตลาดเมืองไทยมากขึ้น เนื่องจากมองเห็นศักยภาพการเติบโตของธุรกิจโฮมช้อปปิ้งในประเทศไทยที่ยังขยายตัวได้อีกมาก เมื่อเปรียบเทียบกับตลาดต่างประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น ที่ธุรกิจโฮมช้อปปิ้งมีมูลค่าการตลาดสูงถึง 6 แสนล้านบาท และเกาหลีใต้ ที่มีมูลค่าการตลาด 3 แสนล้านบาท ประกอบกับอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยอยู่ในระดับที่ดีส่งผลให้ผู้บริโภคมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น คาดการณ์ว่าในปีนี้มูลค่าการตลาดของโฮมช้อปปิ้งอาจแตะ 1 หมื่นล้านบาท