สำหรับพันธบัตรรัฐบาล รุ่นที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรกคือรุ่น LB155A (อายุ 2.0 ปี) LB176A (อายุ 4.1 ปี) และ LB236A (อายุ 10.1 ปี) โดยมีมูลค่าการซื้อขายในแต่ละรุ่นเท่ากับ 33,052 ล้านบาท 30,766 ล้านบาท และ 27,526 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนพันธบัตรที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย รุ่นที่มีปริมาณซื้อขายสูงสุด 3 อันดับแรก คือรุ่น CB13604A (อายุ 14 วัน) CB13613D (อายุ 28 วัน) และ CB13815B (อายุ 91 วัน) มูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 62,566 ล้านบาท 29,971 ล้านบาท และ 27,537 ล้านบาท ตามลำดับ
ขณะที่หุ้นกู้ภาคเอกชน ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ หุ้นกู้ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) รุ่น THAI165A (A+) มูลค่าการซื้อขาย 765 ล้านบาท หุ้นกู้ของบริษัท โตโยต้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด รุ่น TLT138A (AAA) มูลค่าการซื้อขาย 746 ล้านบาท และหุ้นกู้ของบริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) รุ่น SCC174A (A) มูลค่าการซื้อขาย 707 ล้านบาท
เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield Curve) แกว่งตัวในกรอบแคบๆ โดยปรับตัวขึ้นเล็กน้อยในช่วงประมาณ 1 ถึง 4 Basis Point (100 Basis point มีค่าเท่ากับ 1%) โดยนักลงทุนในตลาดยังรอความชัดเจนของมาตรการแก้ไขปัญหาเงินทุนไหลเข้า 4 ข้อจากธนาคารแห่งประเทศไทยที่เปิดเผยโดยกระทรวงการคลังว่าจะถูกนำมาบังคับใช้เมื่อใด ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ระบุว่าค่าเงินบาทในขณะนี้เริ่มอ่อนค่าลงและเคลื่อนไหวในระดับที่ใกล้เคียงกับเงินสกุลอื่นๆ ในภูมิภาค ทำให้อาจยังไม่มีความจำเป็นต้องทพำการตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อชะลอการไหลเข้าของกระแสเงินทุนในขณะนี้ อย่างไรก็ตาม หากตัวเลขตัวเศรษฐกิจของไทยเริ่มส่งสัญญาณเข้าสู่ภาวะชะลอตัว ก็อาจมีการนำเรื่องการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายมาพิจารณาอีกครั้ง ด้วยเหตุผลดังกล่าว ทำให้แรงคาดการณ์เกี่ยวกับการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายเริ่มน้อยลง และมีผลทำให้อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรเริ่มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจหลายตัวของประเทศสหรัฐฯ เริ่มกลับมาปรับตัวดีขึ้นอีกครั้ง ทำให้ความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะยุติมาตรการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ (QE 3 และ 4) เริ่มกลับมาเป็นที่คาดการณ์ของนักลงทุนอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งถือเป็นประเด็นที่ต้องทำการติดตามต่อไป และอาจส่งผลต่อบรรยากาศการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ไทยในช่วงต่อไปด้วยเช่นกัน
ในสัปดาห์นี้นักลงทุนต่างชาติยังเข้าลงทุนในตราสารหนี้ไทยอย่างต่อเนื่อง โดยมียอด ซื้อสุทธิ ในตราสารหนี้ทุกประเภท (ทั้งระยะสั้น และระยะยาว) รวมกันกว่า 5,739 ล้านบาท แต่หากพิจารณาเฉพาะการซื้อขายในตราสารหนี้ระยะยาว (อายุคงเหลือมากกว่า 1 ปี) จะพบว่าเป็นการซื้อสุทธิ ถึง 14,504 ล้านบาท (ขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 8,765 ล้านบาท) สำหรับนักลงทุนรายย่อยแม้จะมีสัดส่วนการซื้อขายค่อนข้างน้อย แต่ในสัปดาห์นี้ยังคงมียอดซื้อสุทธิ 201 ล้านบาท