“กำไรสุทธิที่เติบโตสูงแสดงถึงความสามารถในการบริหารต้นทุนขายที่ดี ภาคธุรกิจที่มีความโดดเด่นได้แก่ บจ.ในภาคการเงินและการผลิตที่เติบโตดี เนื่องจากสินเชื่อภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ขยายตัว ดัชนีและมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหุ้นไทยที่เพิ่มขึ้นสูง และทิศทางของธุรกิจประกันภัยที่ดีขึ้นจากรายได้เบี้ยประกันภัยและการลงทุน ขณะที่ผลกระทบจากน้ำท่วมลดลง"นายชนิตร กล่าว
ส่วนผลการดำเนินงานของ บจ. ในภาคการผลิตโดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคในประเทศมียอดขายและกำไรเติบโตโดดเด่น ได้แก่ พาณิชย์ ยานยนต์ วัสดุก่อสร้าง เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และการแพทย์ นอกจากนี้ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่ออยู่อาศัยมีผลการดำเนินงานดีขึ้นและมีทิศทางเติบโตดีต่อเนื่องจากมูลค่างานรอส่งมอบ (Backlog) อยู่ในระดับสูง
ขณะที่นธุรกิจชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์มีทิศทางดีขึ้นแม้จะยังมีแรงกดดันจากค่าแรงขั้นต่ำ การแข็งค่าของเงินบาท และเศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัวซึ่งปัจจัยดังกล่าวยังส่งผลต่อผลการดำเนินงานของธุรกิจในหมวดการเกษตร อาหารและเครื่องดื่ม แฟชั่น และของใช้ในครัวเรือนและสำนักงาน ด้วย" นายชนิตรกล่าว
บริษัทจดทะเบียนที่มีกำไรสุทธิสูงสุด 5 อันดับแรก คือ บมจ. ปตท. (PTT) บมจ. ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) บมจ. ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) บมจ. พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) และ บมจ. ธนาคารกสิกรไทย (KBANK)
กลุ่มอุตสาหกรรม 3 อันดับแรกจาก 8 กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีกำไรสูงสุด ได้แก่ ทรัพยากร ธุรกิจการเงิน และบริการ
สำหรับหมวดธุรกิจที่มีกำไร สูงสุด 3 อันดับแรก จาก 27 หมวดธุรกิจ ได้แก่ พลังงานและสาธารณูปโภค ธนาคาร และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยทั้ง 3 หมวดมีกำไรสุทธิรวม 144,377 ล้านบาท คิดเป็น 59.76% ของกำไรสุทธิรวมทั้งหมด และยอดขายรวมของทั้ง 3 หมวดคิดเป็น 55.12% ของยอดขายรวมทั้งหมด