สำหรับพันธบัตรรัฐบาล รุ่นที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรกคือรุ่น LB196A (อายุ 6.1 ปี) LB155A (อายุ 2.0 ปี) และ LB176A (อายุ 4.1 ปี) โดยมีมูลค่าการซื้อขายในแต่ละรุ่นเท่ากับ 37,844 ล้านบาท 36,387 ล้านบาท และ 15,095 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนพันธบัตรที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย รุ่นที่มีปริมาณซื้อขายสูงสุด 3 อันดับแรก คือรุ่น CB13620C (อายุ 28 วัน) CB13611A (อายุ 14 วัน) และ BOT14OA (อายุ 1 ปี) มูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 26,276 ล้านบาท 21,241 ล้านบาท และ 21,129 ล้านบาท ตามลำดับ
ขณะที่หุ้นกู้ภาคเอกชน ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ หุ้นกู้ของบริษัท โตโยต้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด รุ่น TLT138A (AAA) มูลค่าการซื้อขาย 988 ล้านบาท และรุ่น TLT136A (AAA) มูลค่าการซื้อขาย 618 ล้านบาท และหุ้นกู้ของบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) รุ่น BANPU195A (AA-) มูลค่าการซื้อขาย 945 ล้านบาท
เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield Curve) ปรับตัวในกรอบแคบๆ โดยปรับตัวลดลงเล็กน้อยในตราสารช่วงอายุ 1 เดือนถึง 3 ปี ในช่วง -1 ถึง -3 Basis Point แต่กลับปรับตัวสูงขึ้นในตราสารอายุตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป ในช่วง +1 ถึง +3 Basis Point (100 Basis point มีค่าเท่ากับ 1%) หลังจากที่นักลงทุนส่วนใหญ่กำลังรอดูความชัดเจนเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่ ธปท. จะทำการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ช่วงกลางสัปดาห์หน้า (29 พ.ค.) เนื่องจากตัวเลข GDP ไตรมาสแรกของปี 2556 แสดงให้เห็นถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยในระดับที่ต่ำกว่าการคาดการณ์ โดยอยู่ที่ระดับ 5.3% yoy (GDP ไตรมาส 4 ของปี 2555 ที่อยู่ที่ระดับ 7.5%) ทั้งนี้สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้ปรับตัวเลขประมาณการณ์ GDP ของประเทศไทยตลอดทั้งปี 2556 เป็น 4.2 — 5.2% ลดลงจากตัวเลขประมาณการณ์เดิมที่ 4.5 — 5.5% การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ลดลงทำให้ตลาดเริ่มคาดการณ์ถึงความเป็นไปได้ที่จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีกครั้ง นอกจากนี้แล้ว การดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบของประเทศสหรัฐฯ และญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง ยังคงเป็นอีกประเด็นที่ส่งผลต่อการไหลเข้าของเงินทุนต่างชาติและความผันผวนของค่าเงินบาท ซึ่งอาจมีผลทำให้ ธปท. นำมาพิจารณาในการตัดสินใจด้านดอกเบี้ยนโยบายด้วยเช่นกัน ความกังวลเหล่านี้ส่งผลทำให้อัตราผลตอบของแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุน้อยกว่า 3 ปีปรับตัวลดลง
ในสัปดาห์นี้นักลงทุนต่างชาติมียอด ขายสุทธิ ในตราสารหนี้ทุกประเภท (ทั้งระยะสั้น และระยะยาว) รวมกันกว่า 9,136 ล้านบาท แต่หากพิจารณาเฉพาะการซื้อขายในตราสารหนี้ระยะยาว (อายุคงเหลือมากกว่า 1 ปี) จะพบว่าเป็นการซื้อสุทธิ เพียง 553 ล้านบาท ขณะที่ขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้นถึง 9,689 ล้านบาท สำหรับนักลงทุนรายย่อย มียอดขายสุทธิ 315 ล้านบาทเช่นกัน