โดยคณะกรรมการบริษัทฯมีมติ (27 พ.ค.) อนุมัตินโยบายจ่ายเงินปันผลไม่ต่ำกว่า 6, 7 และ 8 พันล้านบาทสำหรับผลประกอบการปีบัญชี 57, 58 และ 59 ตามลำดับ คิดเป็นเงินปันผลจ่ายทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่า 2.1 หมื่นล้านบาทใน 3 รอบระยะเวลาบัญชี โดยจะมาจากกำไรจากการดำเนินงานและกำไรพิเศษจากธุรกรรมกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน(หลังการเข้าลงทุน 1/3 ใน BTSGIF และค้ำประกันหุ้นกู้อีกราว 1 หมื่นล้านบาท BTS จะเหลือเงินสดอยู่ราว 2.97 หมื่นล้านบาทสำหรับเป็นฐานทุนเพื่อรองรับการเข้าประมูลโครงการรถไฟฟ้าและการจ่ายเงินปันผลพิเศษ)
หากคำนวณจากจำนวนหุ้นล่าสุด (1.19 หมื่นล้านหุ้น) คิดเป็นเงินปันผลจ่ายต่อหุ้นราว 0.50-0.67 บาทและคิดเป็นอัตราผลตอบแทนเงินปันผลราว 6.2% ถึง 8.2% เชื่อว่าการประกาศเป็นนโยบายที่ชัดเจนด้วยอัตราผลตอบแทนเงินปันผลที่ค่อนข้างดึงดูดจะจำกัด Downside ของราคาหุ้น
แม้เงินสดที่ได้จากการขายรายได้สุทธิเข้ากองทุน BTSGIF จะสนับสนุนการจ่ายเงินปันผลอย่างต่อเนื่องด้วยอัตรา 6.2%-8.2% ในสามปีข้างหน้า รวมถึงโอกาสปรับเพิ่มมูลค่าพื้นฐานหากชนะประมูลโครงการใหม่จะเป็นปัจจัยสนับสนุนการเข้าลงทุนระยะสั้น แต่โอกาสชนะประมูลงานและอัตราผลตอบแทนโครงการใหม่ยังคาดหมายได้ยาก ขณะที่แผนการลงทุนในกิจการอื่นยังไม่ชัดเจน และด้วยสินทรัพย์หลักที่เหลือเพียง BTSGIF (33%) และ VGI (68%) ราคาหุ้นปัจจุบัน (32xP/E ปี 57) ถือว่าแพงมากในแง่ P/E ไม่เหมาะสำหรับการลงทุนระยะยาว
BTS รายงานกำไรสุทธิปี 56(ปิด มี.ค.56)ที่ 2.48 พันล้านบาท(+18YoY)เป็นกำไรจากการดำเนินงานรถไฟฟ้าราว 1.86 พันล้านบาท(+17%) หรือ 75% ของกำไรสุทธิรวม เราอยู่ระหว่างทบทวนประมาณการและมูลค่าพื้นฐานหลังการเข้าประชุมนักวิเคราะห์กับผู้บริหารในวันพรุ่งนี้ (29 พ.ค.) เพื่อสะท้อนผลประกอบการหลังการขายรายได้สุทธิจากโครงการรถไฟฟ้าออกไป เรามีแนวโน้มปรับมูลค่าพื้นฐานของ BTS ขึ้นเพื่อสะท้อนมูลค่าพื้นฐานของ VGI (เราเพิ่งปรับมูลค่าพื้นฐานใหม่ของ VGI (เพิ่งปรับขึ้น 24% ที่ 139.25 บาทอิงกับ 30xP/E) เบื้องต้นมูลค่าพื้นฐานใหม่ของ BTS จะอยู่ที่ราว 8.7 บาท เพิ่มขึ้นจากเดิม 0.7 บาท หรือ 9%
ราคาปิดวานนี้อยู่ที่ 8.15 บาท ลดลง 0.25 บาท (-2.98%)