ประมูลทีวีดิจิตอลดึงรายใหม่ชนรายเดิมดันเงินโฆษณาโตกระโดด

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday May 30, 2013 17:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เอกชนมองการเปิดประมูลทีวีดิจิตอล เปิดโอกาสให้รายใหม่เข้าลู่แข่งขันเดียวกับรายเดิม และมองแนวโน้การใช้เม็ดเงินโฆษณาผ่านทีวีเพิ่มขึ้นแตะระดับแสนล้านบาทในอีก 2-3 ปีนี้ จากปัจจุบันอยู่ที่ 7 หมื่นล้านบาท เชื่อเข้าประมูลคึกคัก แต่ก็ยังมองว่า เกณฑ์เข้าประมูลที่กำหนดจ่ายค่าใบอนุญาต 50% เป็นการกีดกันรายเล็ก ระบุ ต้องใข้เวลา 3 ปีคืนทุน

นายสมพันธ์ จารุมิลินท รองประธานกรรมการบริหาร บมจ.ทรูวิชั่นส์ ในกลุ่ม บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) กล่าวในงาน"Thailand in View 2013: มุมมองธุรกิจโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกในประเทศไทย"ที่สมาคมผู้แพร่ภาพทางเคเบิลและดาวเทียมแห่งภูมิภาคเอเชีย(CASBAA)จัดขึ้นว่า การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบบดิจิตอล โดยจะมีการประมูลทีวีดิจิตอล 24 ช่องธุรกิจ ซึ่งจะมีรายใหม่เข้ามารวมกับรายเดิมในตลาดที่มี 6 ช่องฟรีทีวี ส่งผลให้เม็ดเงินโฆษณาเติบโตขึ้นมาเป็น 1 แสนล้านบาทในอีก 2-3 ปีข้างหน้าอีกทั้งการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) จะช่วยสนับสนุนอีกทางหนึ่งด้วย

"ผมคิดว่า AD ทีวี จะโต และจะโตแบบก้าวกระโดดด้วย วันนี้ยังไม่เห็น แต่เร็วๆนี้มาแน่ และimpact จะแรง"นายสมพันธ์ กล่าว

ทั้งนี้ ทรูวิชั่นส์จะเข้าร่วมประมูล 3 ช่อง ได้แก่ ช่อง HD , ช่องวาไรตี้ SD และ ช่องเด็ก โดยคาดว่าจะนำช่อง TNN ซึ่งเป็นสถานีข่าว 24 ชั่วโมงของทรูวิชั่นส์ นำมาไว้ช่องวาไรตี้ SD ซึ่งมีข้อกำหนดให้ทำรายการข่าวและสาระอย่างน้อย 25% ขณะที่เกณฑ์ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ระบุไม่ให้ผู้เข้าร่วมประมูลช่อง HD เข้าประมูลช่องข่าว บริษัทจึงไม่ได้เข้าร่วมประมูลช่องข่าว ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ ทั้งนี้ยังไม่ได้กำหนดมูลค่าเงินลงทุนในครั้งนี้

"ถ้าเอา TNN มาทำอยู่ใน platform ที่น่าสนใจ เชื่อว่าจะมาแทน ทีวีรายเดิม ทีวีดิจิตอลเป็นอนาคต ทำให้เรามีโอกาส"นายสมพันธ์ กล่าว

นายสมพันธ์ ยังกล่าวว่า มีโอกาสเห็นการแข่งขันอย่างดุเดือด ตั้งแต่การประมูลและการแข่งขันในช่วงต่อไป โดยเฉพาะการแข่งขันประมูลข่อง HD ช่องวาไรตี้ ทีจะมีผู้เข้าร่วมประมูลจำนวนมาก เพราะจะเป็นที่มาของเม็ดเงินโฆษณามหาศาล

อย่างไรก็ตาม นายสมพันธ์ เห็นว่า กสทช.ควรจะให้ใบอนุญาตทีวีดิจิตอล 25 ปี จากที่กำหนดไว้ 15 ปี เพราะผู้ประกอบการต้องใช้เวลาในการทำกำไร โดยคาดว่า 3 ปีแรกจะยังไม่มีกำไร และเชื่อว่าประเทศไทยจะใช้เวลาเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบบดิจิตอลไม่เกิน 5 ปี หรือใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 ปี จากสถิติในต่างประเทศ 5 ปี ส่วนญี่ปุ่นใช้เวลา 10 ปี

ขณะที่นายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ กรรมการผู้อำนวยการ บมจ.เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น (NBC) กล่าวเห็นด้วยว่า ในช่วง 3 ปีแรกจะไม่มีผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตทีวีดิจิตอลรายใดทำกำไรได้ หรือใช้เวลาคืนทุนมากกว่า 3 ปี เพราะมีการลงทุนมาก อีกทั้งเห็นว่าเกณฑ์ของ กสทช.ที่ให้จ่ายค่าใบอนุญาต 50% ในปีแรก เห็นว่าเป็นการกีดดันรายเล็ก เป็นการเชียนกฎเอื้อให้ผู้ประกอบการรายใหญ่

อย่างไรก็ตาม NBC มีความพร้อมที่จะเข้าประมูลช่องข่าว SD ที่ราคาไม่แพงเท่าช่อง HD แต่ช่อง SD ก็ยังมีสัดส่วน 30% ที่ทำรายการวาไรตี้ที่จะเน้นกลุ่มคนระดับ B ถึง B+ โดยปัจจุบันบริษัทก็มีรายการในช่อง Nation TV อยู่แล้ว

"สำหรับ NBC เป็นไฟลท์บังคับ ที่ต้องเข้าไปแข่งในช่องข่าว...การขึ้นมาอีกระดับหนึ่งในช่องดิจิตอลทำให้ Nation TV ต้อง upgrade ให้ทันผู้เล่นเดิม คือ ช่อง 3 ช่อง 7 ช่อง 9 " นายอดิศักดิ์ กล่าว

ด้านนางพรพรรณ เตชรุ่งชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บมจ. อาร์เอส (RS) กล่าวว่า ขณะนี้ยังต้องติดตามการประมูลทีวีดิจิตอลด้วยความระมัดระวัง ยังไม่ได้พิจารณาว่าจะต้องเข้าประมูล 100% หรือต้องได้แน่นอน เนื่องจากต้องรอดูรายละเอียดหลายเรื่อง แต่หากว่าจะเข้าประมูลจริงคาดว่าจะประมูล 1-2 ช่อง ประเภทวาไรตี้ อย่างไรก็ตาม ยังไม่ได้สรุปว่าจะเป็นช่อง HD หรือ SD

ส่วนความพร้อมที่จะเข้าสู่ทีวีดิจิตอลนั้น ทางอาร์เอสมีความพร้อมเป็นอย่างยิ่ง เพราะมองว่าเป็นโอกาสในการขยายธุรกิจ โดยหลังจากเข้าสู่ทีวีดิจิตอลแล้วสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญอย่างมากคือเรื่องของ Content ที่จะต้องเน้นนำเสนอเนื้อหาใหม่ๆ ให้กับผู้ชม เนื่องจากผู้บริโภคมีหลายประเภทและมีทางเลือกมากขึ้น ในแง่ของการลงทุนก็ต้องดูว่ามีความเหมาะสมกับผลตอบแทนที่เข้ามามากน้อยเพียงใด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ