บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส(ประเทศไทย) มองเป็นข่าวลบกับผู้ส่งออกกุ้งของไทย แม้ว่าอัตราอากร CVD ที่ไทยถูกเรียกเก็บจะน้อยกว่าประเทศอื่นๆ แต่ก็เป็นปัจจัยที่เข้ามากดดันอุตสาหกรรมกุ้งส่งออกของไทยเพิ่มเติม จากเดิมที่มีปัญหาโรคระบาด EMS ที่ยังไม่คลี่คลายทั้งหมดอยู่แล้ว สำหรับบริษัทจดทะเบียนฯ ที่มีการส่งออกกุ้งไปสหรัฐ ได้แก่ CFRESH, ASIAN, TUF, CPF เป็นต้น
โดยคาดการณ์ว่าผลประกอบการในส่วนธุรกิจกุ้งของบริษัทเหล่านี้จะยังซบเซามากในช่วง 1H56 ผู้ประกอบการบางรายในอุตสาหกรรมคาดการณ์ว่าปริมาณส่งออกกุ้งของไทยในปี 56 จะลดลงราว 30-40%YoY จากโรค EMS ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการต้องชะลอการรับออร์เดอร์จากลูกค้าเพราะไม่แน่ใจว่าจะสามารถส่งมอบผลิตภัณฑ์ได้ทันหรือไม่
พร้อมให้น้ำหนักการลงทุน Underweight กับกลุ่มกุ้งส่งออก โดยประเมินว่าอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มสดใสกว่าอย่างชัดเจน คือ ไก่แช่แข็งและไก่แปรรูปส่งออก ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะขยายตัวได้ทั้งปริมาณและราคาส่งออก โดยสมาคมธุรกิจเวชภัณฑ์สัตว์คาดการณ์ว่าปริมาณส่งออกไก่แช่แข็งและแปรรูปของไทยในปี 56 จะขยายตัว 2-3%YoY และราคาส่งออกเฉลี่ยเพิ่มขึ้น ทำให้มูลค่าส่งออกโดยรวมจะขยายตัวได้ประมาณ 5%YoY จึงยังคงแนะนำ"ซื้อ"หุ้น GFPT โดยให้ราคาเป้าหมายปี 56 เท่ากับ 9 บาท จุดเด่น คือ ผลประกอบการที่คาดว่าจะ Turnaround จากกำไรสุทธิ 41 ล้านบาท เป็น 797 ล้านบาทในปี 56
ขณะที่ บล.กรุงศรี ระบุในบทวิเคราะห์ฯประเมินว่า แม้ไทยส่งออกกุ้งไปสหรัฐสัดส่วนราว 1/3 ของมูลค่ารวม โดยภาพรวมมองว่ามีผลกระทบต่อบริษัทจดทะเบียนที่เป็นผู้ส่งออกกุ้งไม่มาก ด้วยอัตราภาษี 2% ถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับคู่แข่งรายอื่น แม้จะเสียเปรียบคู่แข่งสำคัญอย่าง Ecuador และ Indonesia แต่ข้อจำกัดด้านปริมาณผลผลิตและคุณภาพของผลผลิตกุ้งในประเทศคู่แข่งทำให้แรงกดดันด้านการแข่งขันจากกรณีนี้ไม่มีนัย ขณะที่บริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่เป็นผู้ส่งออกรายกลางและใหญ่มักมีอำนาจต่อรองกับฟาร์มกุ้งและมีความสามารถในการหาแหล่งส่งออกอื่นมาชดเชย
ในระยะสั้นมองประเด็นราคากุ้งที่สูงขึ้นจากอุปทานกุ้งที่ลดลงผลจากโรค EMS เป็นประเด็นที่มีนัยต่ออุตสาหกรรมกุ้งไทยมากกว่า ซึ่งการลดลงของผลผลิตกุ้งไทยในปี 55 จากปัญหาโรค EMS ได้ส่งผลให้ส่วนแบ่งตลาดกุ้งไทยในสหรัฐลดลงต่ำกว่า 30% เป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 48 ขณะที่ระยะยาวไทยยังคงได้เปรียบด้านคุณภาพและแนวโน้มต้นทุนการผลิตที่ถูกลงเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่ง
เมื่อเทียบสัดส่วนของรายได้ปี 55 การส่งออกกุ้งไปสหรัฐของทั้ง CFRESH, TUF และ CPF น้อยกว่า 10% ของรายได้รวม ขณะที่มีความคล่องตัวในการหาตลาดอื่นเข้ามาทดแทน
แง่ปัจจัยพื้นฐานได้แนะ"ซื้อ"หุ้น บมจ.ซีเฟรชอินดัสตรี(CFRESH) การปรับโครงสร้างธุรกิจเพิ่มโอกาสเติบโตในระยะยาว ขณะที่แนวโน้มการฟื้นตัวของผลประกอบการในช่วงที่เหลือของปีนี้จะเป็นปัจจัยสนับสนุนการเข้าลงทุนระยะสั้น คงมูลค่าพื้นฐานที่ 10 บาท อิงกับ P/BV เป่าหมายระดับ 2.3 เท่า (+1SD) เทียบเท่า 13xP/E สำหรับผลประกอบการปี 57