(เพิ่มเติม) "ซีเค พาวเวอร์"คาดขายหุ้น IPO-เข้าเทรดปลายมิ.ย.หลังเคาะราคากลางเดือน

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday June 3, 2013 12:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสุภามาส ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ซีเค พาวเวอร์(CKP)ในกลุ่ม บมจ.ช.การช่าง(CK) คาดว่าบริษัทจะเสนอขายหุ้นต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก(IPO) และนำหุ้นเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(SET) ในช่วงปลายเดือนมิ.ย.นี้ หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ได้เริ่มนับหนึ่งไฟลิ่งเมื่อวันที่ 31 พ.ค.56 คาดว่าจะ book build และกำหนดช่วงราคาเสนอขายหุ้น IPO ได้ในช่วงกลางเดือน มิ.ย.

การเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 220 ล้านหุ้น มาจากหุ้นสามัญเพิ่มทุนใหม่ 180 ล้านหุ้น และจากหุ้นของผู้ถือหุ้นเดิม 40 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 5 บาท โดยจะเน้นการเสนอในประเทศ เพราะมีจำนวนหุ้นน้อย อย่างไรก็ตาม มีนักลงทุนสถาบันและกองทุนรวมให้ความสนใจหุ้นของบริษัทเป็นจำนวนมาก โดยมีผู้จัดการกองทุนรวมเข้ามาเยี่ยมชมกิจการโรงไฟฟ้าน้ำงึม 2 จำนวนกว่า 20 ราย

การระดมทุนผ่าน IPO ครั้งนี้บริษัทจะนำไปจ่ายคืนเงินกู้ของบริษัทบางส่วน และใช้ในการขยายธุรกิจในอนาคต โดยหนี้ของบริษัทในงบเดี่ยวมีจำนวน 2.2 พันล้านบาทเป็นการกู้เงินมาซื้อกิจการ

บริษัทแต่งตั้งให้ ธนาคารไทยพาณิชย์ บริษัท กรุงไทยแอดไวซ์เซอรี่ และ บริษัท แอดไวเซอรี่ พลัส เป็นทึ่ปรึกษาทางการเงิน ส่วนผู้จัดการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย ได้แก่ บล.เอเชียพลัส บล.ไทยพาณิชย์ บล.บัวหลวง และ บล.เคที ซีมิโก้

ปัจจุบัน ซีเค พาวเวอร์ ถือหุ้นใน บริษัท เซาท์อีสท์ เอเชีย เอนเนอร์จี จำกัด (SEAN) 56% ซึ่ง SEAN เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ น้ำงึม 2 ในประเทศ สปป.ลาว ขนาด 615 เมกะวัตต์, ลงทุนในธุรกิจผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โดยเข้าถือหุ้นใน บริษัท บางเขนชัย จำกัด สัดส่วน 100% ขนาด 8 เมกะวัตต์ บริษัท นครราชสีมา โซล่าร์ จำกัด ถือหุ้น 30% มีกำลังการผลิต 6 เมกะวัตต์ และ บริษัท เชียงราย โซล่าร์ จำกัด ขนาด 8 เมกะวัตต์ ถือหุ้น 30%

นอกจากนี้ บริษัทถือหุ้น 65% ในบริษัท บางปะอิน โคเจนเนอเรชั่น จำกัด ซึ่งตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมในนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา โดยแบ่งการลงทุน 2 เฟส

เฟสแรกมีกำลังผลิต 117.5 เมกะวัตต์และไอน้ำ 19.6 ตันต่อชั่วโมง ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)จำนวน 90 เมกะวัตต์ เป็นเวลา 25 ปี ขณะที่กำลังผลิตส่วนที่เหลือและไอน้ำจะขายให้กับผู้ประกอบการในนิคมฯ จะเริ่มจ่ายไฟได้ในปลายเดือน มิ.ย.56 และบริษัทจะเริ่มรับรู้รายได้ในไตรมาส 3/56 ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างการเติบโตสำหรับผลการดำเนินงานครึ่งหลังปี 56

ส่วนเฟส 2 มีขนาด 120 เมกะวัตต์ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ.แล้ว ระยะเวลา 25 ปี นับจากวันเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ในปี 2560

นอกจากนี้ ในปี 56 นี้บริษัทจะเริ่มรับรู้เงินปันผลจาบริษัทที่เข้าลงทุน จาก โรงไฟฟ้าน้ำงึม 2 และ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทั้ง 3 โครงการ

ด้านนางสาวปิยนุช มริตตนะพร ผู้อำนวยการฝ่ายบัญชีและการเงิน บมจ. ซีเค พาวเวอร์ กล่าวว่า ในไตรมาส 1/56 บริษัทมีรายได้รวมกว่า 1.2 พันล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 93 ล้านบาท มี EBITDA Margin ที่ระดับ 81%โดยรับรู้โรงไฟฟ้าน้ำงึม 2 และโรงไฟฟ้าที่บางเขนชัยรับรู้เต็มปี ขณะที่ในปี 55 บริษัทมี รายได้รวม 2,578 ล้านบาท กำไรสุทธิ 55 ล้านบาท และมี EBITDA Margin ที่ระดับ 82%

ปัจจุบันบริษัทมีอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) ที่ระดับ 0.98 เท่า และคาดว่าหลังระดมทุน IPO จะต่ำลง อย่างไรก็ตาม นโยบายบริษัทจะไม่ให้เกิน 2.5 เท่า ขณะที่มีนโยบายการจ่ายเงินปันผลไม่ต่ำกว่า 40% ของกำไรสุทธิ แม้ว่าในอนาคตบริษัทจะมีการลงทุนตามมา

*โครงการอนาคต

นางสุภามาส กล่าวถึงแผนงานโครงการอนาคตว่า นอกเหนือจากโรงไฟฟ้าบางปะอิน โคเจนเนอเรชั่น โครงการ 2 แล้ว ยังมีโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ น้ำบาก กำลังการผลิต 160 เมกะวัตต์ และ โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำไซยะบุรี กำลังการผลิต 1,285 เมกะวัตต์ ในลาว

ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าน้ำบาก คาดว่าปลายปี 56 น่าจะได้ข้อสรุปสัญญาสัมปทานที่น่าจะมีระยะเวลา 25-30 ปี และสัญญาซื้อขายไฟฟ้าให้กับ สปป.ลาว ทั้งหมด ผ่าน บริษัท อิเลกตริไซต์ ดู ลาว เจเนอเรชั่น (EDL-Gen)

ขณะที่โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำไซยะบุรี มีสัญญาซื้อขายไฟกับ กฟผ. จำนวน 1,220 เมกะวัตต์ อีก 60 เมกะวัตต์ขายให้กับ EDL-Gen ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จใปนี 62 ซึ่ง CK จะขายหุ้นโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีออกประมาณ 30% ให้กับซีเค พาวเวอร์ หลังงานก่อสร้างเสร็จสิ้น โดยซีเค พาวเวอร์จะทยอยซื้อจาก CK ที่ได้ลงทุนไปประมาณ 2.7 หมื่นล้านบาท

ซีเค พาวเวอร์ ยังได้ศึกษาโครงการลงทุนอื่นๆ ประมาณ 2 พันเมกะวัตต์ ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้า SPP ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานร้อนร่วม จำนวน 8 โรง กำลังการผลิตประมาณ 120 เมกะวัตต์/โรง รวมประมาณ 960 เมกะวัตต์ มูลค่าเงินลงทุนโรงละ 5 พันล้านบาท ศึกษาไว้ 4 ทำเล คือ ภาคกลาง 3 แห่ง และภาคอีสาน 1 แห่ง โดยจะอยู่ในหรือใกล้นิคมอุตสาหกรรม คาดจะเห็นความชัดเจนในปี 57 คาดว่าทุกโครงการ ซีเค พาวเวอร์จะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และยังศึกษาการลงทุนในโครงการพลังงานน้ำในสปป.ลาว อีก 1 พันเมกะวัตต์จากหลายโครงการ

พร้อมกันนั้น บริษัทยังศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำในประเทศพม่าที่มีโครงการที่จะดำเนินการทั้งหมดรวมกำลังการผลิต 4.6 หมื่นเมกะวัตต์ ซึ่งบริษัทมองว่าตลาดในพม่ามีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงเช่นกัน และ ยังสนใจลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน หากรัฐบาลเปิดประมูล บริษัทก็พร้อมเข้าร่วม

"ลาวตั้งเป้าหมายเป็นแบตเตอรี่ในเอเชีย ลาวเป็นฐานลงทุนที่สำคัญของเรา ขณะเดียวกันเราต้องการที่จะขยายพอร์ตลงทุนไปในพลังงานที่หลากหลาย ทั้ง Hydro , ก๊าซ , โซลาร์ ,พลังงานลม , ไบโอแมส"นางสุภามาส กล่าว

ซีเค พาวเวอร์ เป็นบริษัทโฮลดิ้ง ที่ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าพลังานประเภทต่างๆ โดยปัจจุบันมีกำลังการผลิตรวม 874.5 เมกะวัตต์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ