ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยประจำสัปดาห์: มีมูลค่าการซื้อขายรวม 446,816 ลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday June 3, 2013 16:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) สรุปภาวะตลาดตราสารหนี้ประจำสัปดาห์ (27 - 31 พฤษภาคม 2556) ปริมาณการซื้อขายตราสารหนี้มีมูลค่ารวม 446,816 ล้านบาท หรือเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณวันละ 89,363 ล้านบาท ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้าประมาณ 2% ทั้งนี้เมื่อแยกตามประเภทของตราสารแล้วจะพบว่ากว่า 70% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด หรือประมาณ 311,971 ล้านบาท เป็นการซื้อขายในตราสารหนี้ที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (State Agency Bond) ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นตราสารที่มีอายุคงเหลือค่อนข้างน้อย (ไม่เกิน 6 เดือน) ขณะที่พันธบัตรรัฐบาลที่ออกโดยกระทรวงการคลัง (Government Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 115,055 ล้านบาท และหุ้นกู้ที่ออกโดยภาคเอกชน (Corporate Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 9,176 ล้านบาท หรือคิดเป็น 26% และ 2% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมดที่เกิดขึ้น ตามลำดับ

สำหรับพันธบัตรรัฐบาล รุ่นที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรกคือรุ่น LB176A (อายุ 4.0 ปี) LB155A (อายุ 2.0 ปี) และ LB196A (อายุ 6.0 ปี) โดยมีมูลค่าการซื้อขายในแต่ละรุ่นเท่ากับ 24,419 ล้านบาท 20,817 ล้านบาท และ 20,226 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนพันธบัตรที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย รุ่นที่มีปริมาณซื้อขายสูงสุด 3 อันดับแรก คือรุ่น CB13618A (อายุ 14 วัน) CB13627C (อายุ 28 วัน) และ CB13829B (อายุ 91 วัน) มูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 36,900 ล้านบาท 24,638 ล้านบาท และ 22,292 ล้านบาท ตามลำดับ

ขณะที่หุ้นกู้ภาคเอกชน ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ หุ้นกู้ของบริษัท โตโยต้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด รุ่น TLT138A (AAA) มูลค่าการซื้อขาย 1,211 ล้านบาท หุ้นกู้ของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) รุ่น BAY142B (AA-) มูลค่าการซื้อขาย 810 ล้านบาท และหุ้นกู้ของบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) รุ่น BGH205A (A+) มูลค่าการซื้อขาย 675 ล้านบาท

เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield Curve) ปรับตัวลดลงเล็กน้อยในตราสารช่วงอายุ 1 เดือนถึง 1 ปี ในช่วง -1 ถึง -2 Basis Point แต่กลับปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากในตราสารอายุตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป ในช่วง +4 ถึง +18 Basis Point (100 Basis point มีค่าเท่ากับ 1%) จากการประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท. หลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา (29 พ.ค.) ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนระยะสั้นปรับตัวลงตามการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับสัญญาณของมาตรการดูแลความสมดุลของเงินทุนไหลเข้าและออกของทางการไทยเพื่อดูแลค่าเงินบาท ประกอบกับการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจเดือน เม.ย.56 ของ ธปท. ที่สะท้อนให้เห็นถึงภาพการชะลอตัวของเศรษฐกิจ กดดันให้นักลงทุนต่างชาติเริ่มขายสุทธิในตราสารหนี้ โดยเฉพาะแรงขายในตราสารหนี้ระยะยาวที่มีผลทำให้อัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ในกลุ่มนี้ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 10 basis point (0.1%) สำหรับประเด็นที่ต้องจับตาในสัปดาห์ถัดไป ยังคงเป็นเรื่องของความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯจะยกเลิกมาตรการ QE เร็วกว่ากำหนด เนื่องจากตัวเลขอัตราการจ้างงานในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบให้ตลาดเคลื่อนไหวค่อนข้างผันผวน นอกจากนี้ ยังต้องติดตามตัวเลขเศรษฐกิจจีน ยุโรป สหรัฐ รวมถึงผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางอังกฤษในระหว่างสัปดาห์ด้วยเช่นกัน เนื่องจากอาจมีแนวโน้มที่จะใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่อ

ในสัปดาห์นี้นักลงทุนต่างชาติมียอด ขายสุทธิ ในตราสารหนี้ทุกประเภท (ทั้งระยะสั้น และระยะยาว) รวมกันกว่า 31,705 ล้านบาท แต่หากพิจารณาเฉพาะการซื้อขายในตราสารหนี้ระยะยาว (อายุคงเหลือมากกว่า 1 ปี) จะพบว่าเป็นการขายสุทธิ 9,817 ล้านบาท ขณะที่ขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้นถึง 21,888 ล้านบาท สำหรับนักลงทุนรายย่อย มียอด ซื้อสุทธิ 246 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ