ทริส จัดอันดับเครดิตองค์กร"เซาท์อีสท์เอเชีย เอนเนอร์จี" ที่“A-/Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday June 5, 2013 15:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท เซาท์อีสท์ เอเชีย เอนเนอร์จี จำกัด (SEAN) ที่ระดับ “A-" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่"

อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงกระแสเงินสดที่แน่นอนจากการมีสัญญาขายไฟฟ้าระยะยาว (Power Purchase Agreement -- PPA) กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และประสบการณ์ในโรงไฟฟ้าพลังน้ำของกลุ่มผู้ถือหุ้นและผู้บริหารของบริษัท นอกจากนี้ การพิจารณาอันดับเครดิตดังกล่าวยังคำนึงถึงระดับความคุ้มครองเจ้าหนี้ภายใต้โครงสร้างสัญญาต่าง ๆ ในโครงการของบริษัทด้วย

อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตดังกล่าวก็มีข้อจำกัดจากความไม่แน่นอนของอัตราการไหลของกระแสน้ำในลำน้ำงึม ประวัติผลการดำเนินงานที่ค่อนข้างสั้นของบริษัท และความเสี่ยงของประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ซึ่งเป็นที่ตั้งของสินทรัพย์หลักเพียงแห่งเดียวของบริษัท

ขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะมีกระแสเงินสดที่แน่นอนจากโรงไฟฟ้า นอกจากนี้ ยังคาดว่าบริษัทจะสามารถบริหารจัดการหน่วยผลิตไฟฟ้าและปริมาณน้ำให้มีเพียงพอสำหรับการผลิตไฟฟ้าตามเป้าหมายทั้งในปีที่มีปริมาณน้ำมากและในปีที่มีปริมาณน้ำน้อย

SEAN เป็นบริษัทโฮลดิ้งที่ลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าของกลุ่ม บมจ.ช.การช่าง(CK)ซึ่งจดทะเบียนก่อตั้งในประเทศไทยในปี 2547 เพื่อลงทุนและพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบัน บริษัทถือหุ้นในสัดส่วน 75% ในโครงการโรงไฟฟ้าเขื่อนน้ำงึม 2 (NN2HPP) ซึ่งตั้งอยู่ใน สปป.ลาว และส่วนที่เหลืออีก 25% ถือครองโดย EDL-Generation Public Company (EDL-Gen) บริษัทลูกของ Electricite du Laos (EDL) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าของลาว

โครงการโรงไฟฟ้าเขื่อนน้ำงึม 2 มีกำลังการผลิตติดตั้ง 615 เมกะวัตต์ และมี สัญญาขายไฟฟ้าระยะยาว 25 ปีนับจากวันเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date -- COD) เพื่อขายไฟฟ้าทั้งหมดที่ผลิตได้ให้แก่ กฟผ. นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวยังได้รับสัมปทานในลักษณะโอนกรรมสิทธิ์ในระบบผลิตและระบบจ่ายให้แก่ผู้ว่าจ้างเมื่อสิ้นสุดสัญญา (Build-Own-Operate-Transfer -- BOOT) จากรัฐบาลลาวด้วย โดยโครงการเริ่มผลิตไฟฟ้าตั้งแต่เดือนมีนาคม 2554

ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทประกอบด้วย บมจ.ซีเค พาวเวอร์ (CKP) (56.0%) และบมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง(RATCH) (33.3%) โดยซีเค พาวเวอร์ เป็นบริษัทโฮลดิ้งที่ลงทุนในธุรกิจพลังงานของกลุ่ม CK ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างดำเนินการเพื่อขอจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ปัจจุบันกลุ่ม CK ดำเนินธุรกิจที่หลากหลายซึ่งครอบคลุมธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน และสาธารณูปโภค ในขณะที่ บริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้งซึ่งมี กฟผ. ถือหุ้นในสัดส่วน 45.0% เป็นกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทยซึ่งมีกำลังการผลิตติดตั้งที่ดำเนินงานแล้วรวมทั้งสิ้น 5,313 เมกะวัตต์

โครงการโรงไฟฟ้าเขื่อนน้ำงึม 2 ตั้งอยู่บนลำน้ำงึมซึ่งอยู่ห่างจากกรุงเวียงจันทน์เมืองหลวงของสปป.ลาว 90 กิโลเมตรและอยู่ห่างจากเขื่อนน้ำงึม 1 ไปทางต้นน้ำ 35 กิโลเมตร โครงการก่อสร้างเขื่อนและโรงไฟฟ้าแล้วเสร็จตามเวลาและมีมูลค่าการก่อสร้างตามงบประมาณ 31,000 ล้านบาท โครงการนี้มี กฟผ. เป็นผู้ปฎิบัติการโรงไฟฟ้าภายใต้สัญญาบริการเดินเครื่องและบำรุงรักษา (Operation and Maintenance Agreement -- OMA) ระยะเวลา 27 ปี โดยรับเหมาช่วงต่อจาก บริษัท ราช-ลาว เซอร์วิส จำกัด ซึ่งเป็นผู้ให้บริการเดินเครื่องและบำรุงรักษาหลักแก่โครงการ เนื่องจาก กฟผ. มีความชำนาญและประสบการณ์ที่ยาวนานในการดำเนินงานโรงไฟฟ้าพลังน้ำในประเทศไทย ดังนั้น ความเสี่ยงจากการดำเนินงานของโครงการจึงลดลงไปอย่างมากจากการมีส่วนร่วมของ กฟผ. ในโครงการ ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 โรงไฟฟ้ามีความพร้อมจ่ายสูงถึง 99.0% ในขณะที่ในปี 2555 มีความพร้อมจ่ายอยู่ที่ 96.5% และ ในปี 2554 อยู่ที่ 97.2%

ภายใต้สัญญาสัมปทาน โครงการโรงไฟฟ้าเขื่อนน้ำงึม 2 มีสิทธิ์ในการใช้น้ำจากลำน้ำงึมในการผลิตไฟฟ้า รวมถึงสิทธิ์ในการถือครองที่ดินโดยการเช่า ซึ่งรวมถึงอ่างเก็บน้ำและสิทธิ์ในการใช้ถนนทางเข้าโครงการและทางสายส่ง นอกจากนี้ รายได้ที่เกิดขึ้นยังสามารถรับชำระและฝากไว้นอกประเทศลาวได้ ซึ่งรวมถึงเงินปันผลและการชำระหนี้เงินกู้ด้วย รายได้ที่เกิดขึ้นจากโครงการจะต้องนำไปชำระค่าสิทธิสัมปทาน (Royalty Fee) และภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่รัฐบาลลาวตามที่กำหนดไว้ในสัญญาสัมปทาน นอกจากนี้ ผู้รับสัมปทานจะต้องดำเนินการภายใต้แผนงานด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและแผนงานพัฒนาด้านสังคมในกรณีที่เกิดผลกระทบต่อผู้เกี่ยวข้องโดยให้เหมาะสมกับวิธีปฏิบัติตามมาตรฐานสากลด้วย

ภายใต้สัญญาขายไฟฟ้าระยะยาว กฟผ. จะรับซื้อพลังงานไฟฟ้าในลักษณะจ่ายค่าไฟฟ้าทั้งหมดโดยสามารถเรียกรับไฟฟ้าส่วนที่ขาดให้ครบได้ภายหลัง (Take-or-Pay) ในปริมาณสูงสุดไม่เกิน 2,310 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง (ล้านหน่วย) ต่อปีซึ่งขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ ในขณะที่โรงไฟฟ้าจะต้องมีความพร้อมจ่ายพลังงานไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 10 ชั่วโมงต่อวันหรือเทียบเท่ากับพลังงานไฟฟ้าประมาณ 1,722 ล้านหน่วยต่อปี (หรือ 77% ของเป้าหมายจัดส่งรายปี -- Annual Supply Target) พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้นั้นขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝนและปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำซึ่งเป็นปัจจัยที่ยากต่อการคาดการณ์ อย่างไรก็ตาม สัญญาขายไฟฟ้าระยะยาวมีกลไกที่ทำให้กระแสเงินสดของโครงการมีเสถียรภาพแม้ว่าปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้นั้นจะมากหรือน้อยกว่าเป้าหมายจัดส่งรายปี โดยกลไกดังกล่าวจะยอมให้โครงการสามารถผลิตและขายไฟฟ้าเกินกว่าเป้าหมายในปีที่มีปริมาณน้ำมาก ในขณะที่ในปีที่มีปริมาณน้ำน้อย โครงการจะได้รับเงินสดจากการนำไฟฟ้าที่ผลิตเกินกว่าเป้าหมายดังกล่าวมาใช้

ในปี 2554 ปริมาณน้ำจากลำน้ำงึมไหลเข้าอ่างเก็บน้ำของโครงการมีปริมาณมากเป็นพิเศษที่ 8,778 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยรายปีที่ 6,270 ล้าน ลบ.ม. ระหว่างปี 2492—2546 อยู่ 40% ดังนั้น โครงการจึงประกาศการผลิตไฟฟ้าจำนวน 2,780 ล้านหน่วยเพื่อขายให้แก่ กฟผ. ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายจัดส่งรายปีของปี 2544 ที่ 1,778 ล้านหน่วย ภายใต้สัญญาขายไฟฟ้า โครงการสามารถขายไฟฟ้าจำนวน 2,433 ล้านหน่วยให้แก่ กฟผ. ในปี 2554 ดังนั้น พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ส่วนที่เหลือจำนวน 347 ล้านหน่วยจึงถูกนำไปสะสมในบัญชีพลังงานสำหรับใช้ในอนาคตเมื่อเกิดการขาดแคลนน้ำ

ในปี 2555 น้ำปริมาณ 5,858 ล้าน ลบ.ม. ไหลเข้าอ่างเก็บน้ำของโครงการซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตอยู่ 6.6% โครงการประกาศการผลิตไฟฟ้าจำนวน 2,180 ล้านหน่วยซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายจัดส่งรายปีที่ 2,310 ล้านหน่วย อย่างไรก็ตาม โครงการสามารถขายไฟฟ้าได้จำนวน 2,421 ล้านหน่วยโดยการนำไฟฟ้าจำนวน 241 ล้านหน่วยที่สะสมไว้ในบัญชีพลังงานออกมาใช้ การใช้บัญชีพลังงานช่วยให้กระแสเงินสดของโครงการมีเสถียรภาพแม้ว่าปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้จริงจะต่ำกว่าเป้าหมายจัดส่งรายปี ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2555 โครงการมีพลังงานไฟฟ้าคงเหลือจำนวน 106 ล้านหน่วยสะสมอยู่ในบัญชีพลังงานซึ่งจะช่วยบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในปีที่แห้งแล้งได้

สถานะทางการเงินของบริษัทขึ้นอยู่กับโครงการโรงไฟฟ้าเขื่อนน้ำงึม 2 ซึ่งเป็นโครงการผลิตไฟฟ้าโครงการเดียวของบริษัทในขณะนี้ โดยรายได้ของบริษัทในปี 2554-2556 มาจากโครงการโรงไฟฟ้าเขื่อนน้ำงึม 2 ทั้งหมด ในปี 2555 บริษัทมีรายได้ 3,838 ล้านบาท และมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย 3,108 ล้านบาท บริษัทมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ที่ 78.7% โดยอัตรากำไรที่สูงนี้เป็นลักษณะปกติของโรงไฟฟ้าพลังน้ำเนื่องจากไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิงและยังมีค่าใช้จ่ายดำเนินงานค่อนข้างคงที่

สำหรับไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 บริษัทมีรายได้ 961 ล้านบาทคิดเป็นประมาณ 25% ของรายได้ที่คาดว่าจะได้รับจากการดำเนินงานในปี 2556 ในขณะที่บริษัทมีกำไรจากดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย จำนวน 745 ล้านบาทในไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 และมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้อยู่ในระดับสูงที่ 77.5%

ความเสี่ยงด้านการเงินของบริษัทอยู่ในระดับปานกลาง โครงสร้างรายได้และเงินกู้ของโครงการทำให้บริษัทมีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนอยู่บ้างเนื่องจากโครงสร้างรายได้ของโครงการได้รับชำระเป็นเงินบาทในสัดส่วนประมาณ 50% และเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐอีกประมาณ 50% ในขณะที่โครงสร้างเงินกู้นั้นประกอบด้วยเงินกู้สกุลบาท 70% และเงินกู้สกุลดอลลาร์สหรัฐอีก 30% อย่างไรก็ตาม บัญชีธนาคารต่างประเทศในไทยที่บริษัทมีอยู่ช่วยขจัดความเสี่ยงจากการโอนเงินได้ในระดับหนึ่ง แต่บริษัทก็ยังคงมีความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ยเนื่องจากดอกเบี้ยเงินกู้โครงการเป็นอัตราแบบลอยตัวโดยอ้างอิงกับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MLR) สำหรับเงินกู้สกุลบาทและอ้างอิงกับอัตราดอกเบี้ยระหว่างธนาคารในตลาดลอนดอน (LIBOR) สำหรับเงินกู้สกุลดอลลาร์สหรัฐ

โครงสร้างเงินกู้ของบริษัทมีเงื่อนไขที่ดูแลผลประโยชน์ของเจ้าหนี้เงินกู้ โดยเจ้าหนี้ทั้งหมดเป็นผู้รับผลประโยชน์ลำดับ 1 จากสัญญาหลักประกันของโครงการ ได้แก่การจำนองทรัพย์สินทั้งหมดของโครงการ รวมถึงการจำนำสัญญาหลักของโครงการ ตลอดจนการจำนำบัญชีเพื่อการดำเนินงาน และบัญชีเพื่อการชำระหนี้ทั้งหมด ในทุก ๆ ปี โครงการจะต้องนำส่งงบประมาณสำหรับการดำเนินงานเพื่อให้เจ้าหนี้อนุมัติ เงินสดที่ได้รับจากโครงการจะถูกจัดสรรให้กับบัญชีสำรองต่าง ๆ สำหรับนำไปใช้ในวัตถุประสงค์ต่าง ๆ อาทิ การดำเนินงาน และการชำระหนี้ซึ่งรวมถึงบัญชีสำรองเพื่อการชำระหนี้ใน 6 เดือนข้างหน้าด้วย นอกจากนี้ เงินสดจำนวน 20% ที่เหลือจากการจัดสรรให้กับบัญชีดังกล่าวจะต้องนำไปชำระหนี้ก่อนกำหนด (Mandatory Prepayment) ก่อนที่จะนำไปจ่ายเงินปันผล ซึ่งจะช่วยให้ความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทดีขึ้นในช่วง 2 ปีสุดท้ายของอายุเงินกู้ สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าเขื่อนน้ำงึม 2 นี้มีอัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 1.21 เท่าตลอดอายุของสัญญาเงินกู้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ