ทริสฯ จัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ 20,000 ลบ.“ธ. ทิสโก้"ที่ “A/Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday June 6, 2013 16:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตระดับ “A" ให้แก่หุ้นกู้ไม่มีประกันชุดใหม่วงเงินไม่เกิน 20,000 ล้านบาทของ ธนาคารทิสโก้ ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ถือหุ้น 99.98% โดย บมจ.ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป(TISCO) ในขณะเดียวกันยังคงอันดับเครดิตองค์กรของธนาคารที่ระดับ “A" และคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีประกันของธนาคารที่ระดับ “A-" ด้วยเช่นกัน โดยแนวโน้มยังคง “Stable" หรือ “คงที่"

อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงคณะผู้บริหารที่มีความสามารถ รวมทั้งความสามารถในการดำรงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งของธนาคารในธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ และการรักษาระดับกำไรได้เป็นอย่างดี อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงการมีระบบบริหารความเสี่ยงที่ดีและสินทรัพย์คุณภาพดี

อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตมีข้อจำกัดจากการมีส่วนแบ่งทางการตลาดของสินเชื่อและเงินรับฝากขนาดเล็ก เครือข่ายที่มีอยู่อย่างจำกัด ต้นทุนทางการเงินในระดับสูง และสัดส่วนของหนี้สินที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ธนาคารยังเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ตลอดจนความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจและการเงิน ปัจจัยเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของธนาคารในระยะยาว ความสามารถในการทำกำไร รวมถึงความมั่นคงของเงินกองทุน

ขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนความคาดหวังว่าธนาคารจะยังสามารถดำรงสถานะทางการแข่งขันที่แข็งแกร่งในธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ ตลอดจนรักษาคุณภาพสินเชื่อและมีผลประกอบการที่ดี ทั้งนี้ การมีฐานเงินทุนที่แข็งแกร่งขึ้น รวมทั้งการรักษาเสถียรภาพของแหล่งเงินทุนไว้ได้ด้วยต้นทุนที่เหมาะสม จะส่งผลต่ออันดับเครดิตและแนวโน้มอันดับเครดิตของธนาคารด้วยเช่นกัน

กลุ่มทิสโก้มีสินทรัพย์รวมใหญ่เป็นอันดับ 9 จากธนาคารพาณิชย์ไทยทั้งสิ้น 15 แห่งในปี 2555 ด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดของสินเชื่อ 2.7% และเงินรับฝาก 2.3% ธนาคารทิสโก้ทำการขยายสินเชื่ออย่างต่อเนื่องโดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 24% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2556 ธนาคารมีสินเชื่อและดอกเบี้ยค้างรับทั้งสิ้น 255.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% จากเดือนธันวาคม 2555

และด้วยประสบการณ์ของคณะผู้บริหารทำให้ธนาคารเติบโตได้ดีในตลาดกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ อีกทั้งยังสามารถรักษาสถานะทางการแข่งขันในธุรกิจเช่าซื้อซึ่งเป็นธุรกิจหลักไว้ได้ โดยธนาคารเป็นผู้ให้สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์รายใหญ่อันดับ 3 จาก 17 รายในประเทศไทย ด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดในปี 2555 ประมาณ 12% สินเชื่อเช่าซื้อของธนาคารเติบโตอย่างรวดเร็วในปี 2555 ตลอดจนถึงไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 โดยมีสินเชื่อเช่าซื้อ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2556 ทั้งสิ้น 172.4 พันล้านบาท นอกจากนี้ ธนาคารยังขยายสินเชื่อในกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยเน้นกลุ่มลูกค้าในภาคการผลิตและการค้า รวมทั้งภาคสาธารณูปโภคและบริการ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากลุ่มประเภทธุรกิจของลูกค้าจะมีการกระจายตัวดีขึ้น แต่ธนาคารยังคงมีความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของลูกหนี้รายใหญ่ ซึ่งหากลูกหนี้เหล่านั้นประสบปัญหาด้านการเงิน อาจส่งผลให้เงินกองทุนของธนาคารลดลงตามไปด้วย

คุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารยังคงแข็งแกร่งเป็นผลจากการมีระบบบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพจนสามารถควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ได้เป็นอย่างดี สินเชื่อด้อยคุณภาพลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 2.6 พันล้านบาทในปี 2551 มาอยู่ที่ 2.2 พันล้านบาทในปี 2554 อย่างไรก็ตาม ธนาคารเปิดรับความเสี่ยงเพิ่มขึ้นด้วยการขยายสินเชื่อที่มีความเสี่ยงสูงขึ้นเพื่อรักษาระดับกำไรเอาไว้ ทั้งนี้ สินเชื่อด้อยคุณภาพเพิ่มขึ้นเป็น 2.8 พันล้านบาทในปี 2555 และ 3.0 พันล้านบาท ณ เดือนมีนาคม 2556 กระนั้นก็ตาม อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง จากการขยายตัวเชิงรุกของสินเชื่อ โดยมีอัตราส่วนที่ 1.2% ณ เดือนมีนาคม 2556 ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดในระบบธนาคารพาณิชย์

ฐานะทางการเงินของธนาคารยังคงอยู่ในระดับที่น่าพอใจ โดยมีกำไรสุทธิในปี 2555 จำนวน 2.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% จากปีก่อน รายได้ค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นอย่างมากถึง 55% ในขณะที่รายได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเพียง 1% ความสามารถในการทำกำไรของธนาคารได้รับแรงกดดันจากการแข่งขันในธุรกิจธนาคารพาณิชย์ที่รุนแรงขึ้น โดยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของธนาคารลดลงอันเป็นผลจากต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นจากการแข่งขันด้านเงินฝาก อย่างไรก็ตาม คาดว่าต้นทุนทางการเงินของธนาคารจะต่ำลงภายหลังการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเมื่อเร็วๆ นี้

ในไตรมาสแรกของปี 2556 รายได้ดอกเบี้ยสุทธิและรายได้ค่าธรรมเนียมของธนาคารยังคงเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังสามารถควบคุมต้นทุนดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม ธนาคารได้ตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญจำนวนมากเพื่อเพิ่มปริมาณสำรองส่วนเกิน เป็นผลให้กำไรสุทธิสำหรับงวด 3 เดือนแรกของปี 2556 มีจำนวน 641 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเพียง 1% จากงวดเดียวกันของปีก่อน อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยและผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นถัวเฉลี่ยในปี 2555 เท่ากับ 1.13% และ 19.01% ตามลำดับ ลดลงจากอัตราส่วนในปี 2554 อัตราส่วนสำหรับงวดไตรมาสแรกของปี 2556 เท่ากับ 0.22% และ 4.13% (ยังไม่ได้ปรับเป็นรายปี) ลดลงจาก 0.29% และ 4.50% สำหรับงวดเดียวกันของปีก่อน

ด้านแหล่งเงินทุนและสภาพคล่อง ธนาคารมีความเสี่ยงด้านสภาพคล่องในระดับหนึ่ง โดยธนาคารยังคงใช้แหล่งเงินทุนจากกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเกิดความผันผวนได้ง่ายกว่าแหล่งเงินทุนจากลูกค้ารายย่อย แหล่งเงินทุนส่วนใหญ่ของธนาคารมาจากผู้ฝากเงินและผู้ให้กู้ยืมรายใหญ่ (เงินฝากหรือตั๋วแลกเงินที่มากกว่า 10 ล้านบาท) โดยในปี 2555 คิดเป็นสัดส่วน 84% ของฐานเงินฝากรวมตั๋วแลกเงิน เพิ่มขึ้นจาก 73% ในปี 2554 ทั้งนี้ สภาพคล่องของธนาคารอาจอ่อนแอลงหากกลุ่มลูกค้ารายใหญ่เบิกถอนเงินโดยฉับพลัน

ธนาคารมีหนี้สินในระดับสูง อัตราส่วนของส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์ลดลงจาก 9.3% ในปี 2551 เหลือเพียง 5.3% ณ เดือนมีนาคม 2556 ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในระบบ อันเป็นผลจากการขยายตัวของสินเชื่อในเชิงรุกและการจ่ายเงินปันผลจำนวนมาก ทั้งนี้ ธนาคารมีแผนการเพิ่มทุนตามโครงการออกใบแสดงสิทธิเพื่อการซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่สามารถเปลี่ยนมือได้ (TSR) ของบริษัทแม่ซึ่งจะดำเนินการในปลายไตรมาสที่ 2 ของปี 2556

อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าสถานะด้านเงินทุนภายหลังการเพิ่มทุนจะยังไม่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ธนาคารคำนวณเงินกองทุนสำหรับความเสี่ยงด้านเครดิตด้วยวิธี Internal Rating Based Approach (IRB) ภายใต้เกณฑ์ Basel III ซึ่งช่วยให้ระบบบริหารความเสี่ยงและบริหารจัดการเงินกองทุนมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ธนาคารยังคงมีเงินกองทุนตามกฎหมายที่เพียงพอต่อการขยายธุรกิจในระยะกลาง ณ เดือนมีนาคม 2556 ธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 และเงินกองทุนรวมต่อสินทรัพย์เสี่ยงเท่ากับ 8.33% และ 12.92% ตามลำดับ ซึ่งยังคงสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ 6.00% และ 8.50%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ