แม้ว่าในช่วงนี้ตลาดหุ้นปรับตัวลงแรง แต่บริษัทยังยืนยันไม่เลื่อนการเข้าตลาด เพราะได้เตรียมพร้อมการเสนอขายเรียบร้อยแล้ว และความต้องการของนักลงทุนสถาบันก็ยังมีอยู่สูง โดยวานนี้ได้ประเมินความต้องการของผู้จัดการกองทุน 8 ราย พบว่ามีความต้องการจองซื้อเกิน 2.2 เท่าของหุ้นที่จะเสนอขาย IPO จำนวน 187.5 ล้านหุ้น
แต่ก็ยอมรับว่า ราคาขายหุ้น IPO อาจไม่ถึง 28 บาท แม้ว่าจะมีความต้องการจองซื้อเข้ามามากจากนักลงทุนสถาบัน เพราะในส่วนนักลงทุนรายย่อยในประเทศอาจจะตื่นตกใจกับภาวะตลาดหุ้นที่ผันผวนอย่างมากในช่วงนี้ บริษัทจึงจะให้ discount เพิ่มหรือปรับลดราคาจองลงไปอีกตามภาวะตลาดหุ้นที่ปรับตัวลงแรงจน P/E ตลาดลงมาที่ระดับ 13 เท่า นอกจากนี้ บริษัทจะลดสัดส่วนการขายให้กับนักลงทุนรายย่อยลงเหลือ 45% จากเดิม 50% ขณะที่ปรับสัดส่วนให้กับนักลงทุนสถาบันเพิ่มเป็น 55% จาก 50%
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าราคาเสนอขายของสายการบินนกแอร์เมื่อเทียบกับ P/E ต่ำกว่าราคาหุ้น บมจ.เอเชียเอวิเอชั่น (AAV) ซึ่งเป็นคู่แข่งที่ P/E ประมาณ 15 เท่า และ P/E ของสายการบิน Low Cost ในภูมิภาคนี้อยู่ที่ 14 เท่า ขณะที่ช่วงราคาเสนอขายหุ้นสายการบินนกแอร์ 25-28 บาท มี P/E อยู่ที่ 11 -12.5 เท่า
"เราประเมินตัวเราเองในการใช้เงินของบริษัท จะขาย 20 บาทต้นๆอยู่แล้ว เป็นจำนวนเงินที่ได้พออยู่แล้ว ส่วนที่เกินเข้ามาเป็น surplus เข้ามาก็ทำให้ compromise ได้ แล้วความที่นกแอร์ไม่มี Family เป็นเจ้าของ ถ้าหากเป็น Family เชื่อว่าจะต้องขายที่ราคาสูงสุด และเราเชื่อว่าถ้าขาย 28 บาทก็หมด 30 บาทก็ขายหมด ทุกคนในบอร์ด ฝ่ายบริหาร และผมก็ต้องดูผลประโยชน์รายใหญ่ รายย่อย และตัวบริษัทด้วย ถ้าบริษัทได้เกิน 20 กว่าบาทอย่างพอเพียง รายใหญ่เขาโอเคถึงขาย 28 บาทเขาก็เอา แต่เราก็ต้องดูแลรายย่อยว่า sentiment เป็นยังไง ไม่ใช่เข้าไปปุ๊บไม่มี after market หรือตึงมาก สมมติว่าเสนอขายที่ 26 บาท P/E มี 11 เท่ากว่า" นายวิทัย กล่าว
ทั้งนี้ หลังขายหุ้น IPO สัดส่วนผู้ถือหุ้นรายใหญ่ บมจ.การบินไทย(THAI)จะลดเหลือ 39% จาก 49% Aviation Investment International เหลือถือ 10% จากเดิม 25% นายพาที สารสิน เหลือ 4% จากเดิม 5% CPB Equity เหลือ 4.8% จาก เดิม 6% ธนาคารไทยพาณิชย์(SCB) เหลือ 4% จากเดิม 5% King Power เหลือ 4% จาก 5% และ Asvinvichit เหลือ 4% จาก 5% และรายย่อยถือ 30%