ส่วน LOXLEY ได้คะแนนสูงสุด โมดูล A6/B4 งานคลังข้อมูล-เตือนภัย , K-Water ได้คะแนนสูงสุดโมดูล A3, A5 และ Summit SUT ได้คะแนนสูงสุดโมดูล B2
สำหรับการเปิดซองข้อเสนอด้านราคาในแต่ละโมดูล บริษัทที่เสนอราคา ดังนี้
- A1 อ่างเก็บน้ำ ผลการเปิดซอง ITD เสนอราคา 49,999 ล้านบาท จากราคาเพดาน 50,000 ล้านบาท
- A2 ผังเมืองและพื้นที่ปิดล้อม ผลการเปิดซอง ITD เสนอราคา 26,000 ล้านบาท เท่าราคาเพดาน 26,000 ล้านบาท
- A3 แก้มลิง ผลการเปิดซอง K-Water เสนอราคา 9,999 ล้านบาท จากราคาเพดาน 10,000 ล้านบาท
- A4 ปรับปรุงลำน้ำ ผลการเปิดซอง ITD เสนอราคา 17,000 ล้านบาท เท่าราคาเพดาน 17,000 ล้านบาท
- A5 ทางน้ำหลาก ผลการเปิดซอง K-Water เสนอราคา 153,000 ล้านบาท เท่าราคาเพดาน 153,000 ล้านบาท
- A6/B4 คลังข้อมูลและการพยากรณ์เตือนภัย ผลการเปิดซอง LOXLEY เสนอราคา 3,997 ล้านบาท จากราคาเพดาน 4,000 ล้านบาท
- B1 อ่างเก็บน้ำ ผลการเปิดซอง ITD เสนอราคา 11,999 ล้านบาท จากราคาเพดาน 12,000 ล้านบาท
- B2 ผังเมืองและพื้นที่ปิดล้อม ผลการเปิดซอง SUMMIT SUT เสนอราคา 13,933 ล้านบาท จากราคาเพดาน 14,000 ล้านบาท
- B3 ปรับปรุงลำน้ำ ผลการเปิดซอง ITD เสนอราคา 5,000 ล้านบาท เท่าราคาเพดาน 5,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ คิดเป็นยอดวงเงินรวม 290,930 ล้านบาท ซึ่งยังไม่เกินวงเงิน 2.91 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นวงเงินสุทธิที่ได้มีการปรับปรุงกรอบวงเงินกู้จาก 350,000 ล้านบาท มาเหลืออยู่ที่ 301,000 ล้านบาท
นายธงทอง กล่าวว่า ราคาที่บริษัทเอกชนเสนอมาส่วนใหญ่จะใกล้เคียงหรือเท่ากับราคาเพดานที่ตั้งไว้ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติ โดยหลังจากนี้คณะกรรมการฯ จะเริ่มขั้นตอนการเจรจาต่อรองราคากับแต่ละบริษัทที่ชนะราคาในแต่ละโมดูล คาดว่าน่าจะเริ่มเจรจาต่อรองราคากับบริษัทเอกชนได้ในช่วงค่ำวันนี้ เพราะในช่วงบ่ายคณะกรรมการฯ จะต้องหารือร่วมกันในรายละเอียดเกี่ยวกับแนวทางและท่าทีการเจรจากับบริษัทเอกชนก่อน
ทั้งนี้ ยืนยันว่าการเจรจาต่อรองราคาจะรักษาผลประโยชน์ของทางราชการอย่างเต็มที่ และต้องพิจารณาราคาที่สมเหตุสมผล ซึ่งการเจรจาต่อรองราคาในแต่ละโมดูลนั้นจะมีคณะอนุกรรมการฯ ที่จัดเตรียมข้อมูลไว้ให้ในแต่ละชุด และจะพยายามดำเนินการให้เสร็จภายในวันที่ 13 มิ.ย. อย่างไรก็ดี มีความเป็นไปได้ที่คณะกรรมการฯ อาจไม่รับข้อเสนอของบริษัทเอกชนหากเห็นว่าไม่เหมาะสม หรือหากเจรจาแล้วไม่มีข้อสรุปก็จะเป็นเป็นหน้าที่ที่คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย(กบอ.)จะพิจารณาตัดสินใจต่อไป
เมื่อผลการเจรจาต่อรองราคาเป็นที่สิ้นสุดแล้วจะนำเสนอ กบอ. เพื่อรายงานผลให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้รับทราบและอนุมัติแผนการใช้เงินกู้ที่ชัดเจนในวันที่ 18 มิ.ย.56 เพื่อให้สามารถกู้เงินทันกำหนดตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท ภายในวันที่ 30 มิ.ย.นี้
อย่างไรก็ดี คณะกรรมการฯ จะเร่งเจรจาต่อรองราคาให้ทันภายในวันที่ 13 มิ.ย. และเสนอเข้าที่ประชุม กบอ.ในวันที่ 14 มิ.ย. เพื่อให้นำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ในวันที่ 18 มิ.ย.นี้
"พยายามจะดำเนินการให้เสร็จ หากเสร็จเช้า 13 มิ.ย. ก็จะประชุมกบอ.ช่วงบ่าย แต่ถ้าไม่ทันก็จะประชุมกบอ.เช้าวันที่ 14 มิ.ย. เพื่อส่งเอกสารให้ครม.ทันในวันที่ 18 มิ.ย." นายธงทอง กล่าว
ด้านนายมณฑล ภาณุโภคิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท เค-วอเตอร์ จำกัด กล่าวว่า บริษัทไม่หนักใจกับงานที่ประมูลได้ทั้ง 2 โมดูล ซึ่งเป็นในส่วนของการจัดทำแก้มลิง และการจัดทำทางน้ำหลาก เนื่องจากจะนำประสบการณ์ทำงานในประเทศเกาหลีมาใช้ เพราะที่เกาหลีเองก็มีปัญหาด้านมวลชนและการต่อต้าน แต่เมื่อได้แลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ระหว่างกันแล้ว ก็ทำให้การทำงานสามารถดำเนินต่อไปได้ ทั้งนี้ ยืนยันว่าบริษัทจะคำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ