SCB มั่นใจสินเชื่อ SME ปีนี้โต 20% มาที่ 3.7 แสนลบ. ธุรกิจชายแดนโตเร็ว

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday June 10, 2013 14:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางวรีมน นิยมไทย ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ กลยุทธ์และพัฒนาลูกค้าธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) มั่นใจปีนี้บริษัทจะสร้างยอดสินเชื่อเอสเอ็มอีใหม่ได้ตามเป้าหมายที่ 5.7 หมื่นล้านบาท หลังไตรมาสแรกปีนี้มีพอร์ตสินเชื่อคงค้างเพิ่มเป็น 3.4 แสนล้านบาท และคาดสิ้นปีนี้จะมีพอร์ต์สินเชื่อคงค้างที่ 3.7 แสนล้านบาท เติบโต 20% จากปีก่อนที่มีพอร์ตสินเชื่อคงค้าง 3.03 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ ทั้งปี 56 คาดว่าจะมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ 1.4% ของสินเชื่อเอสเอ็มอี จากปัจจุบันมีไม่ถึง 1%

"ดูแล้ว เข้าเป้าแน่นๆ ที่ 3.7 แสนล้านบาท ...ดูครึ่งปีหลัง ก็ยังมีการลงทุนจากภาครัฐต่างๆ ซึ่งเริ่มใช้เม็ดเงินต่อเนื่องในปีนี้ จะโตมาจากภายในประเทศ" นางวรีรมน กล่าว

นางวรีมน กล่าวว่า ธนาคารเน้นการขยายฐานลูกค้าเอสเอ็มอีในต่างจังหวัด ซึ่งเห็นแนวโน้มเติบโตมา 3 ปีแล้ว โดยเฉพาะในภาคอีสาน รองลงมาภาคใต้และภาคเหนือ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจเทรดดิ้ง ซื้อมาขายไปในสินค้าเกษตร และขณะนี้มองว่าธุรกิจตามขอบชายแดน 7-8 จุดมีอัตราเติบโตมาก ได้แก่ แม่สอด ระนอง หาดใหญ่ อุบลราชธานี เป็นต้น โดยธนาคารถือว่าให้บริการครบวงจรและอนุมัติสินเชื่อได้เร็ว นอกจากนี้ ก็ยังมีกลุ่มผู้รับเหมาและวัสดุก่อสร้าง ประมาณ 10%

อนึ่ง ณ สิ้นเดือน มี.ค.56 พอร์ตสินเชื่อเอสเอ็มอีคงค้างอยู่ที่ 3.4 แสนล้านบาท มีสัดส่วนลูกค้าใหม่และลูกค้าเดิม 50:50 และเทียบเป็นภูมิภาคจะมีสัดส่วนลูกค้าต่างจังหวัด 55% ของพอร์ต ที่เหลือมาจากกรุงเทพและปริมณฑล ทั้งนี้ ลูกค้าเอสเอ็มอีของ SCB จะมียอดขายประมาณ 500 ล้านบาทต่อปี

สำหรับในครึ่งปีหลัง 56 ธนาคารยังคงมองเห็นสัญญาณความผันผวนของค่าเงินที่อาจจะก่อให้เกิดความเสี่ยงจากการทำธุรกิจสำหรับลูกค้าที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้า-ส่งออก ได้อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทางด้านความเสี่ยงของค่าเงินจึงยังเป็นกลยุทธ์สำคัญที่ธนาคารให้ความสำคัญ ถึงแม้ลูกค้ากลุ่มนี้จะมีขนาดไม่ใหญ่มากนักเมื่อเทียบกับพอร์ตลูกค้าธุรกิจ แต่ก็มีความสำคัญที่จะผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตได้

ปัจจุบัน ธนาคารมีสินเชื่อกลุ่มนำเข้า-ส่งออก (Trade Finance) อยู่ประมาณ 10% ของพอร์ตสินเชื่อเอสเอ็มอีทั้งหมด ซึ่งมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และในช่วงเวลาที่ผ่านมาธนาคารได้ให้ความช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มนี้ทางด้านการบริหารความเสี่ยงค่าเงินไปแล้วกว่า 3 พันล้านบาท หลังจากที่ทางธนาคารได้ปล่อยตัวผลิตภัณฑ์ SCB SME Forward Contract เมื่อต้นปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการรับมือกับสภาพเศรษฐกิจที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ธนาคารยังได้เตรียมโซลูชั่นทางการเงินเพื่อรองรับกับความต้องการทางธุรกิจของลูกค้ากลุ่มนี้เอาไว้เพิ่มเติม ประกอบด้วย SCB SME Trade ที่ให้วงเงินสูงสุด 120 ล้านบาท ไม่จำกัดประเภทของหลักประกัน สำหรับธุรกิจนำเข้า-ส่งออกที่กำลังเติบโต , SCB SME Forward Contract ที่ให้วงเงินสูงสุด 100 ล้านบาท ครอบคลุมทุกสกุลเงินต่างประเทศ ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน ลดความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และ SCB SME Total Solution สนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้เติบโตเต็มศักยภาพ ด้วยวงเงินสินเชื่อสูงสุด 300 ล้านบาท ครบทุกประเภทวงเงิน

"เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าแผนในการสร้างความแข็งแกร่งให้กับแบรนด์อย่างต่อเนื่อง จะส่งผลให้ SCB SME เป็นแบรนด์ที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีนึกถึงเป็นอันดับแรกๆ เมื่อต้องการพันธมิตรทางการเงินในการทำธุรกิจ" นางวรีมน กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ