ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าหมายเบื้องต้นว่าหลังจากเริ่มดำเนินธุรกิจโบรกเกอร์แล้ว น่าจะมีส่วนแบ่งการตลาด(มาร์เก็ตแชร์)ธุรกิจนายหน้าค้าหลักทรัพย์ราว 1% ภายในสิ้นปี 56 โดยอย่างน้อยปัจจุบันบริษัทมีพอร์ต Prop.Trade ราว 200 ล้านบาทที่ส่งคำสั่งซื้อขายผ่าน บล.ยูโอบี เคย์เฮียน(UOBKH) พร้อมจะย้ายมาส่งคำสั่งซื้อขายเอง และยังมีงานด้านตัวแทนนายหน้า(selling agent) ที่สามารถเริ่มดำเนินการได้ ซึ่งขณะนี้บริษัทมีข้อตกลงเป็นตัวแทนขายหน่วยลงทุนให้กับ บลจ.กว่า 10 แห่ง
บริษัทคาดว่าในปี 57 จะสามารถดำเนินธุรกิจภายใต้ใบอนุญาต(ไลเซ่นส์)ครบจำนวนที่มีทั้ง 5 ใบ โดยงานการจัดหน่ายหลักทรัพย์(underwriter)น่าจะเป็นไลเซ่นส์สุดท้ายที่คาดว่าจะดำเนินการได้ในช่วงไตรมาส 4/56 เนื่องจากต้องรอให้มีจำนวนลูกค้ามากถึงระดับหนึ่งก่อน จากขณะนี้ที่บริษัทยังไม่มีบัญชีลูกค้าอยู่เลย และบริษัทคาดว่าจะถึงจุดคุ้มทุนได้ในไม่นาน จากที่คาดว่าจะใช้ลงทุนกว่า 100 ล้านบาทในการกลับมาเริ่มธุรกิจอีกครั้ง ซึ่งยังไม่จำเป็นที่จะต้องเพิ่มทุนในระยะนี้ เพราะสามารถ
นายกอบเกียรติ กล่าวว่า ความจริงแล้วการทำธุรกิจนายหน้าค้าหลักทรัพย์ เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการกลับมาดำเนินธุรกิจของบริษัทในฐานะโบรกเกอร์ แต่เป้าหมายหลักคือการมองระดับภูมิภาค ไม่ใช่แค่ธุรกรรมการซื้อขายหุ้น แต่เป็นการรองรับกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย โดยเฉพาะเมื่อมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 58 ซึ่งจะทำให้ภูมิภาคนี้กลายเป็นจุดสนใจของทุนจากทั่วโลก หลังจากที่มองว่าปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐและยุโรปยังคงต้องใช้เวลาแก้ไขค่อนข้างยาวนาน
"เรามองระดับภูมิภาคเป็นที่ปรึกษาการลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ matching ให้กับธุรกิจต่างๆ โดยอาศัย connection และ network ของบอร์ดที่มีศักยภาพ มีความเชี่ยวชาญ เป็นที่ปรึกษาเพื่อชี้ทิศทางเดินหน้าไปเปิดโอกาสที่จะทำให้เกิดธุรกรรม โดยเฉพาะด้านวาณิชธนกิจ การเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน ที่ปรึกษาการลงทุน และซื้อขายหลักทรพัย์ ขณะที่ทีมผู้บริหารก็จะมีหน้าที่เข้าไป close the deal"นายกอบเกียรติ กล่าว
อนึ่ง บล.เออีซี ได้แต่งตั้งให้นายวีรศักดิ์ โค้วสุรัตน์ อดีต รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา เป็นกรรมการ ขณะที่คณะที่ปรึกษาคณะกรรมการบริษัท บล.เออีซี มีนายสุรเกียรติ เสถียรไทย เป็นประธานที่ปรึกษาฯ ส่วนนายกุรดิษฐ์ จันทร์ศรีชวาลา และนายชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ เป็นที่ปรึกษาฯ อีกทั้งมีนายประพล มิลินทจินดา ที่รวมกลุ่มพันธมิตร 32 คนในแวดวงธุรกิจทุ่มเงินกว่า 951 ล้านบาท ซื้อหุ้นในสัดส่วน 93.47% จากบล.ยูโอบีเคย์เฮียน นั่งเป็นประธานกรรมการบริหาร
นายประพล มิลินทจินดา ประธานกรรมการบริหาร กล่าวว่า ตั้งแต่ยุโรปและสหรัฐมีปัยหาเศรษฐกิจ ทำให้อาเซียนมีความสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อรวมกลุ่มอาเซียน+3 และ อาเซียน+6 ที่มีประชากรรวมกันมากกว่า 50% ของจำนวนประชากรทั้งโลก ซึ่งขณะนี้มีทุนมหาศาลที่พร้อมเข้ามาลงทุนในอาเซียน รวมถึงประเทศไทยที่ยังมีโอกาสทางธุรกิจอีกมาก แต่ยังไม่สามารถหาผู้ประสานงานที่จะมารองรับการเชื่อมโยงและทำธุรกรรมได้ตามความต้องการ ดังนั้น บริษัทจึงมองเห็นโอกาสที่จะเข้ามารองรับในส่วนนี้
เบื้องต้นในเร็วๆ นี้ไม่เกิน 2 เดือนข้างหน้า บริษัทคาดว่าจะมีความร่วมมือกับทางยูโอบีสิงคโปร์ในการจัดตั้งกองทุน Agriculture Fund ขนาดราว 1.5 พันล้านบาทที่จะนำเงินไปลงทุนในด้านการเกษตรของไทย และอาจขยายไปในประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง ซึ่งจะเน้นการลงทุนในผู้ประกอบการระดับเอสเอ็มอีด้านการเกษตรหรืออุตสาหกรรมการเกษตร หรือลงไปถึงระดับสหกรณ์ที่มีความเข้มแข็งให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ง่ายขึ้น ขณะที่ผู้ลงทุนก็จะได้รับ Yield เป็นผลตอบแทน และบริษัทก็จะมีรายได้จากค่าธรรมเนียม
นอกจากนั้น ยังมีแนวคิดที่จะร่วมมือกับรัฐวิสาหกิจจีนในการจัดตั้งกองทุนด้านพลังงานทดแทนที่เชื่อว่าจะมีเม็ดเงินกว่าแสนล้านบาทพร้อมเข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะในขณะนี้ที่พลังงานทดแทนเป็นธุรกิจที่ได้รับความสนใจอย่างมาก และมีผู้ประกอบการจำนวนมากทั้งในตลาดหลักทรัพย์และนอกตลาดหลักทรัพย์ที่ต้องการเข้ามาดำเนินการ แต่ยังมีปัญหาในการระดมทุน ซึ่งเงินลงทุนในลักษณะนี้ก็จะสามารถตอบโจทย์ได้ และคาดว่าก่อนสิ้นปีนี้น่าจะมีเงินเข้ามาลงทุนไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้านบาท
"เรามองโอกาสทางธุรกิจทั้งในสิงคโปร์ พม่า อินโดนีเซีย ลาว จีน ฮ่องกง และมาเก๊า ที่สามารถสร้างธุรกรรมในลักษณะ business matching ได้ แต่ละประเทศก็มีความต้องการต่างกันไป อย่างจีนก็ต้องการความมั่นคงด้านอาหาร ส่วนลาวก็ต้องการพัฒนาด้านการเกษตร หรือสิงคโปร์เองก็ไปลงทุนด้านเกษตรทางจีนตอนใต้หลายแห่งเพื่อการันตีว่าจะมีผลผลิตส่งกลับไปยังประเทศของเขา...เรามียูโอบีเป็นพันธมิตรสำคัญที่พร้อมจะสนับสนุนการทำธุรกรรมทางการเงินต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียน"นายประพล กล่าว
ด้านนายวีระศักดิ์ โค้วสุรัตน์ กรรมการบริษัท กล่าวว่า คณะกรรมการและคณะที่ปรึกษาฯ ล้วนแล้วแต่มีประสบการณ์และมีเน็ทเวิร์คที่สามารถช่วยเหลือนำทิศทางให้กับบริษัทได้ อย่างนายสุรเกียรติ์ และตนเองก็มีบริษัทที่ปรึกษากฎหมายในพม่าที่สามารถให้คำแนะนำในการลงทุนได้เป็นอย่างดี รวมถึงมีประสบการณ์ในอดีตกับความสัมพันธ์ที่มีในหลายประเทศ เป็นเครือข่ายคอนเน็คชั่นที่ดีสำหรับการทำธุรกรรมต่าง ๆ ขณะที่ไทยก็เปรียบเสมือนอาเซียนมอบหมายให้เป็นผู้ประสานงานหลัก โดยเฉพาะกับจีน ที่เริ่มให้ความสนใจในการมี local partner ในการลงทุนในประเทศต่าง ๆ และมีเม็ดเงินจำนวนมากอยู่ในมือที่จำเป็นต้องหาที่ลงทุน