สำหรับปัจจัยภายนอกที่ส่งผลต่อตลาดหุ้นไทยและภูมิภาคในขณะนี้ มาจากความกังวลว่าสหรัฐอาจจะชะลอมาตรการ QE หรืออาจจะยุติลงก่อนกำหนด ดังนั้นเมื่อความเสี่ยงเพิ่มขึ้นนักลงทุนจึงตัดสินใจขายลดพอร์ตลงมาเรื่อยๆ ส่วนประเด็นในประเทศเกิดความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับข้อมูลด้านตัวเลขเศรษฐกิจ ซึ่งล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ก็อาจจะพิจารณาปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี) ส่วนตัวเลขส่งออกก็เกิดความคลาดเคลื่อน ซึ่งเป็นเรื่องที่บั่นทอนความเชื่อมั่นในระดับมหภาค จำเป็นต้องต้องได้รับการแก้ไข
นางภัทธีรา กล่าวว่า ทิศทางตลาดหุ้นต่อจากนี้ยังไม่มีความแน่นอน เนื่องจากนักลงทุนยังกังวลกับปัจจัยต่างๆ จึงยังมี room ที่จะทำให้เงินทุน(fund flow)ไหลออกอยู่ โดยนักลงทุนต่างชาติมียอดขายสุทธิตั้งแต่ 700 ล้านเหรียญสหรัฐในช่วงเดือนเม.ย.56 เพิ่มมาอยู่ที่ราว 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นประมาณ 4.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งหากเทียบกับยอดซื้อสุทธิของต่างชาติรอบปี 55 อยู่ที่ราว 7.5 หมื่นล้านบาท เพราะฉะนั้นยังเหลือที่มีโอกาสจะขายต่อไปได้อยู่
ส่วนเผลจากการบังคับขายหุ้น (ฟอร์ซเซล) ในพอร์ตลงทุนของลูกค้าโบรกเกอร์นั้น นางภัทรีรา เชื่อว่า ยังไม่ค่อยเกิดขึ้น เพราะดัชนีตลาดหุ้นยังไม่ได้ลึกไปถึง 10% เนื่องจากยังมีแรงซื้อกลับเข้ามาหลังจากลงไปลึกในวันนี้
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของสมาคม บล.ไม่ต้องเรียกหารือกันเป็นกรณีพิเศษถึงสถานการณ์ในวันนี้ เพราะแต่ละโบรกเกอร์มีการดูแลความเสี่ยงของลูกค้าเป็นหลักอยู่แล้ว ซึ่งลูกค้าได้วางหลักประกันตามเกณฑ์ ขณะที่วงเงินปล่อยสินเชื่อเพื่อซื้อหุ้น (มาร์จินโลน) ทั้งอุตสาหกรรมในขณะนี้ถือว่าไม่มากนัก และอยู่ในระดับที่เหมาะสม