ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยประจำสัปดาห์: มีมูลค่าการซื้อขายรวม 460,146 ลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday June 17, 2013 16:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) สรุปภาวะตลาดตราสารหนี้ประจำสัปดาห์ (10 - 14 มิถุนายน 2556) ปริมาณการซื้อขายตราสารหนี้มีมูลค่ารวม 460,146 ล้านบาท หรือเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณวันละ 92,029 ล้านบาท ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้าประมาณ 4% ทั้งนี้เมื่อแยกตามประเภทของตราสารแล้วจะพบว่ากว่า 64% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด หรือประมาณ 292,349 ล้านบาท เป็นการซื้อขายในตราสารหนี้ที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (State Agency Bond) ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นตราสารที่มีอายุคงเหลือค่อนข้างน้อย (ไม่เกิน 6 เดือน) ขณะที่พันธบัตรรัฐบาลที่ออกโดยกระทรวงการคลัง (Government Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 146,539 ล้านบาท และหุ้นกู้ที่ออกโดยภาคเอกชน (Corporate Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 12,560 ล้านบาท หรือคิดเป็น 32% และ 3% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมดที่เกิดขึ้น ตามลำดับ

สำหรับพันธบัตรรัฐบาล รุ่นที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรกคือรุ่น LB21DA (อายุ 8.5 ปี) LB155A (อายุ 1.9 ปี) และ LB176A (อายุ 4.0 ปี) โดยมีมูลค่าการซื้อขายในแต่ละรุ่นเท่ากับ 30,859 ล้านบาท 30,157 ล้านบาท และ 25,138 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนพันธบัตรที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย รุ่นที่มีปริมาณซื้อขายสูงสุด 3 อันดับแรก คือรุ่น CB13711C (อายุ 28 วัน) BOT152C (อายุ 2 ปี) และ CB13912B (อายุ 91 วัน) มูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 32,865 ล้านบาท 28,808 ล้านบาท และ 23,278 ล้านบาท ตามลำดับ

ขณะที่หุ้นกู้ภาคเอกชน ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ หุ้นกู้ของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) รุ่น AIS139A (AA) มูลค่าการซื้อขาย 3,686 ล้านบาท หุ้นกู้ของบริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) รุ่น MBK137A (A) มูลค่าการซื้อขาย 891 ล้านบาท และหุ้นกู้ของอินโดรามา เวนเจอร์ส รุ่น IVL16OB (A+) มูลค่าการซื้อขาย 618 ล้านบาท

เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield Curve) ปรับตัวลดลงเล็กน้อยหรือลดลงประมาณ 1 basis point (100 Basis point มีค่าเท่ากับ 1%) ในตราสารหนี้อายุน้อยกว่า 1 ปี ขณะที่ตราสารอายุตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป Yield ปรับตัวเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก ในช่วง 10 ถึง 20 Basis Point จากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เริ่มส่งสัญญาณถึงแนวโน้มในการปรับเปลี่ยนขนาดของมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) หลังตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรสหรัฐฯ ที่ขยายตัวในเดือน พ.ค. 56 ซึ่งสะท้อนถึงภาวะการฟื้นตัวของตลาดแรงงานในปัจจุบัน ส่งผลให้ตลาดเริ่มคาดการณ์ถึงการปรับลดวงเงินเพื่อซื้อพันธบัตรของ Fed และมีผลให้เงินทุนไหลกลับเข้าสู่สหรัฐฯมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากแรงขายของนักลงทุนต่างชาติทั้งในตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวสูงขึ้นค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจสหรัฐฯยังคงมีปัจจัยเสี่ยงด้านอื่นๆอยู่ ไม่ว่าจะเป็นแนวโน้มการขยายตัวของภาคการผลิต ที่ยังคงถูกกดดันจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และประเด็นด้านการคลังเกี่ยวกับการปรับลดการใช้จ่ายงบประมาณ ที่เริ่มจะส่งสัญญาณทางลบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงนี้ อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางสหรัฐฯจะจัดให้มีการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ในวันที่ 18 — 19 มิ.ย. นี้ และอาจมีการหารือถึงมาตรการ QE ในที่ประชุมอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นประเด็นที่นักลงทุนต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป

ในสัปดาห์นี้นักลงทุนต่างชาติมียอด ขายสุทธิ ในตราสารหนี้ทุกประเภท (ทั้งระยะสั้น และระยะยาว) รวมกัน 4,130 ล้านบาท แต่หากพิจารณาเฉพาะการซื้อขายในตราสารหนี้ระยะยาว (อายุคงเหลือมากกว่า 1 ปี) จะพบว่าเป็นการ ขายสุทธิ 1,547 ล้านบาท ในขณะที่อีกกว่า 2,584 ล้านบาท เป็นการ ขายสุทธิ ในตราสารหนี้ระยะสั้น สำหรับนักลงทุนรายย่อย มียอด ซื้อสุทธิ 430 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ