กสทช.เล็งออกมาตรการคุ้มครองผู้ใช้มือถือคลื่น1800 หลังทรูมูฟ-DPC หมดสัญญา

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday June 18, 2013 16:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) เปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้(พุธ 19 มิ.ย.) การประชุมคณะกรรมการกสทช.ครั้งที่ 6/2556 มีวาระนที่ต้องจับตา ได้แก่ การพิจารณา “ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการในกรณีสิ้นสุดอายุการอนุญาตสัมปทาน หรือสัญญาณการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ.... " ตามที่คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ซึ่งบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (กสท) ให้สัมปทานกับบริษัท ทรูมูฟ จำกัด และบริษัท ดิจิตอล โฟน จำกัด (DPC)กำลังจะสิ้นสุดอายุสัมปทานลงในวันที่ 15 กันยายน 2556 กทค. มีมติเห็นชอบ(ร่าง)ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการฯ ทั้งนี้ได้เสนอวาระต่อ กสทช. พิจารณาเห็นชอบก่อนนำร่างฯเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อไป

เนื้อหาหลักของร่างฯฉบับนี้ เป็นการให้อำนาจ กสทช. กำหนดให้มีผู้ให้บริการทำหน้าที่ให้บริการต่อไปโดยใช้คลื่นความถี่ที่หมดอายุตามสัญญาสัมปทาน โดยไม่ต้องประมูลคลื่นความถี่ตาม ม. 45 ของ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ ฯ พ.ศ. 2553 ซึ่ง กรรมการ กสทช.ประวิทย์ ได้มีความเห็นแย้งต่อมติ กทค. ดังกล่าว เพราะเห็นว่า กสทช. สามารถกำหนดมาตรการรองรับด้วยวิธีการอื่นที่ยังสามารถคุ้มครองผู้บริโภคได้ โดยไม่ต้องออกร่างประกาศฉบับนี้ และ กสทช.เองไม่มีอำนาจออกร่างประกาศฯที่มีเนื้อหาในลักษณะดังกล่าว เพราะไม่มีฐานทางกฎหมายรองรับ รวมทั้งยังเป็นการอนุญาตให้ผู้ให้บริการสามารถใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการโทรคมนาคมได้โดยไม่ต้องประมูลคลื่นความถี่ ซึ่งขัดกับกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553

อีกทั้งการที่ กสทช. จะพิจารณาอนุญาตและกำกับดูแลการใช้คลื่นความถี่และการประกอบกิจการ รวมถึงการพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการอนุญาต เงื่อนไข หรือค่าธรรมเนียมตามมาตราดังกล่าวได้ จะต้องเป็นกรณีที่มีกฎหมายให้อำนาจ ซึ่ง ม. 45 ได้บัญญัติไว้อย่างชัดเจนแล้วว่า การจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อใช้ในกิจการโทรคมนาคมจะต้องดำเนินการโดยวิธีการประมูลเท่านั้น

ประกอบกับแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ไม่ได้กำหนดให้ กสทช. สามารถพิจารณาขยายระยะเวลาการใช้งานคลื่นความถี่ได้ ดังนั้น เมื่อระยะเวลาการใช้งานคลื่นความถี่ของ บมจ. กสท โทรคมนาคม สิ้นสุดลง กสทช. จึงไม่อาจพิจารณามอบหมายให้มีผู้รับผิดชอบให้บริการเป็นการชั่วคราวโดยไม่ได้ดำเนินการประมูลคลื่นความถี่ตาม ม. 45 แม้จะอ้างว่าเป็นการกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวก็ตาม

หากที่ประชุม กสทช. มีมติเห็นชอบตามร่างประกาศฉบับดังกล่าว จะทำให้มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการตามร่างประกาศจะใช้กับการสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในทุกย่านความถี่ที่กำลังจะสิ้นสุดลง โดยบมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) จะสิ้นสุดในปี 2558 และบมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) ซึ่งจะสิ้นสุดในปี 2561 ตามลำดับ

นอกจากนี้ ที่ประชุมกสทช. มีวาระที่น่าสนใจ เพื่อพิจารณา เรื่อง (ร่าง)ประกาศ กสทช. เรื่อง ประมวลจริยธรรมของกรรมการกสทช. และร่างระเบียบ กสทช. ว่าด้วยประมวลจริยธรรมของพนักงานและลูกจ้างของสำนักงาน กสทช. พ.ศ…. ซึ่งการประชุมเมื่อครั้งที่ 13 เมื่อเดือน ต.ค. 2555 นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กสทช. ได้เคยเสนอวาระการประชุมเรื่อง “หารือการกำหนดจรรยาบรรณของ กสทช. โดยอิงกับมาตรฐานสากล" เพื่อเป็นแนวทางสำคัญและจำเป็นในการสร้างความน่าเชื่อถือกับ กสทช. ในฐานะที่เป็นหน่วยงานกำกับดูแลเกี่ยวพันกับธุรกิจซึ่งมีมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล โดยได้นำแนวคิดเรื่อง “Public service is a public trust" จากรายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ เรื่อง การสร้างความน่าเชื่อถือของหน่วยงานกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย มีข้อเสนอแนะทางนโยบายเพื่อจัดระบบการปฏิบัติหน้าที่ให้โปร่งใสและได้มาตรฐานอย่างน้อย 3 ข้อ ได้แก่ ข้อกำหนดด้านจริยธรรม ความโปร่งใสในการปฏิบัติหน้าที่ประจำ ความโปร่งใสในการติดต่อกับบุคคลภายนอก รวมถึงมาตรฐานสากลของหน่วยงานกำกับดูแลด้านการสื่อสารของประเทศสหรัฐอเมริกา FCC และของ สหราชอาณาจักร Ofcom ที่ระบุถึงกฎเกณฑ์ด้านจริยธรรมในรายละเอียดบางเรื่องที่สำคัญ เช่น การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์จากบุคคลภายนอก ค่าใช้จ่ายรับรอง ค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่าของขวัญ การบริจาค การเดินทางไปร่วมประชุม เป็นต้น

รวมทั้ง การกำหนดนโยบายการใช้จ่ายขององค์กรกำกับดูแลในต่างประเทศเกี่ยวกับขั้นตอนการวางแผนโครงการ หรือกิจกรรมที่ควรต้องคำนึงถึงประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณอย่างเหมาะสม รวมถึงนโยบายในการเปิดเผยข้อมูล ความคิดเห็น การวิพากษ์วิจารณ์นโยบายที่เกี่ยวข้องของหน่วยงานกำกับดูแล หรือการนำเสนอความคิดเห็นต่างที่วิพากษ์วิจารณ์นโยบายขององค์กรผ่านการเขียนบทความ อยู่ในวิสัยที่พึงกระทำได้ทั้งในสื่อสาธารณะ และการนำมาเผยแพร่ในเวบไซต์ขององค์กรอีกด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ