KBANK ตั้งเป้ารักษา NPL สินเชื่อ SME ปีนี้ไม่เกิน 3% จับตาปัจจัยลบ H2/56

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday June 19, 2013 16:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพิภวัตว์ ภัทรนาวิก ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดเผยว่า ธนาคารยังไม่เห็นสัญญาณของปัญหาหนี้เสีย (NPL) ในกลุ่มลูกค้า SME โดยปัจจุบัน NPL อยู่ที่ 3% ทรงตัวจากปลายปี 55 ที่ผ่านมา ซึ่งในปีนี้ก็จะรักษาระดับของ NPL ในปีนี้ไว้ที่ 3% ด้วย

ก่อนหน้านี้กลุ่ม SME ได้รับผลกระทบจากปัจจัยต่างๆ เช่น เรื่องของค่าเงินบาทที่มีความผันผวนอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา และค่าแรงที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงการชะลอลงของตัวเลขเศรษฐกิจในประเทศและตัวเลขของเศรษฐกิจของทั่วโลกที่เริ่มมีการชะลอตัวลง รวมถึงประเทศคู่ค้าที่มีการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจ อาจส่งผลกระทบต่อกลุ่ม SME

ส่วนในช่วงครึ่งปีหลังน่าจะยังมีแรงกดดันจากความผันผวนของเศรษฐกิจทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง ธนาคารจึงให้ความสำคัญในการดูแลลูกค้าในกลุ่ม SME มากขึ้น ในขณะเดียวกันได้แนะนำให้มีการปรับตัวกับสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน ควรเน้นการบริหารจัดการด้านต้นทุนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และการพัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการให้มีความสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน รวมถึงมีการป้องกันความเสี่ยงในด้านต่างๆให้ดียิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ธนาคารได้ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ออกโครงการ SME ไม่หวั่นค่าแรง ลดดอกเบี้ย 6% เพื่อช่วยเหลือและแบ่งเบาภาระแก่เอสเอ็มอีจากปัญหาเรื่องต้นทุนค่าแรงที่เพิ่มขึ้น จากมาตรการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวันทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556

สำหรับผู้ประกอบการที่ขอสินเชื่อโครงการนี้จากธนาคารกสิกรไทย จะได้รับส่วนลดดอกเบี้ย 3% ทันทีเมื่อได้รับการอนุมัติ และสามารถเลือกรูปแบบการผ่อนชำระแบบปลอดเงินต้น 3 เดือน (Grace Period 3 เดือน) ซึ่งเป็นสิทธิพิเศษจากธนาคารกสิกรไทยเพียงแห่งเดียว นอกจากนี้ สำหรับลูกค้าเดิมของธนาคาร 700 ท่านแรก ที่ขอสินเขื่อในโครงการนี้ จะได้รับส่วนลดดอกเบี้ยสูงถึง 6% โดยจะเป็นส่วนลดอัตราดอกเบี้ยจาก สสว. 3% และธนาคารกสิกรไทยให้ส่วนลดดอกเบี้ยเพิ่มอีก 3%

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่จะเข้าร่วมโครงการ SME ไม่หวั่นค่าแรง ลดดอกเบี้ย 6% จะต้องเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากการปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2556 ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ รวม 51 จังหวัด และอยู่ในกลุ่มธุรกิจที่มีการใช้แรงงานสูง 12 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ กลุ่มธุรกิจสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ทำจากโลหะประดิษฐ์ ธุรกิจภัตตาคาร ร้านขายอาหาร ธุรกิจผลิตไม้ ผลิตภัณฑ์จากไม้ และไม้ก๊อก ธุรกิจการก่อสร้าง ธุรกิจผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ธุรกิจการขายปลีก ธุรกิจโรงแรมและที่พักชั่วคราว ธุรกิจการขนส่ง ธุรกิจการบำรุงรักษาการซ่อมแซมยานยนต์ จักรยานยนต์ การขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงรถยนต์ และธุรกิจการผลิตเครื่องเรือน เฟอร์นิเจอร์และอัญมณีเครื่องประดับ

นายชาวันย์ สวัสดิ์-ชูโต รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นการดำเนินงานภายใต้โครงการสนับสนุนดอกเบี้ยแก่เอสเอ็มอี เพื่อลดผลกระทบจากการปรับค่าจ้างแรงงานในอัตรา 300 บาทต่อวัน ซึ่ง กระทรวงอุตสาหกรรม โดย สสว. ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ได้รับผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างแรงงาน โดยการชดเชยดอกเบี้ยในอัตรา 3% ของวงเงินสินเชื่อ เป็นระยะเวลา 1 ปี มีวงเงินกู้ยืมไม่เกินรายละ 1 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนระยะสั้นแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ให้สามารถปรับตัวได้ทันกับสถานการณ์ต้นทุนที่เปลี่ยนแปลงไป

สำหรับโครงการสนับสนุนดอกเบี้ยแก่เอสเอ็มอีเพื่อลดผลกระทบจากการปรับค่าจ้างแรงงานในอัตรา 300 บาทต่อวัน มีวงเงินงบประมาณดำเนินการจำนวน 193 ล้านบาท ซึ่ง สสว. เชื่อว่าภายใต้ความร่วมมือในครั้งนี้ จะช่วยสร้างโอกาส ช่วยบรรเทาผลกระทบให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี สามารถบริหารจัดการต้นทุนในการดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยรักษาสภาพการจ้างงานให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในภาคการผลิต ค้าปลีก-ค้าส่ง และบริการ อย่างเป็นรูปธรรม และคาดว่าจะมีผู้ประกอบการได้รับประโยชน์จากการเข้าร่วมโครงการนี้ไม่น้อยกว่า 6,300 ราย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ