พร้อมกันนั้น ผู้บริหาร ADVANC ยังระบุว่า หากทาง บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น(TRUE) สามารถจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานได้ ทาง ADVANC ก็จะศึกษาการจัดตั้งกองทุนในรูปแบบดังกล่าวเช่นกัน
นายวิเชียร เมฆตระการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ADVANC กล่าวว่า เหตุผลที่บริษัทหันมาขายโทรศัทพ์มือถือเฮ้าส์แบรนด์ เพื่อต้องการควบคุมราคาและต้นทุนเครื่องโทรศัพท์มือถือ จากปัจจุบันที่บริษัทขายโทรศัพท์มือถือยี่ห้ออื่น แต่ต้องเสียค่าการตลาดจำนวนมาก โดยบริษัทจะนำโทรศัพท์สมาร์ทโฟนออกจำหน่ายในราคาเครื่องละไม่เกิน 5,000 บาท ส่วนฟีเจอร์โฟนราคาไม่เกินเครื่องละ 2,000 บาท
"เราทำมือถือยี่ห้อเราเอง "เอไอเอส" เปิดตัว กรกฎาคมนี้...เราทำเองจะคุมราคาต้นทุนมือถือได้ เอไอเอสก็ไม่ต้องเสียค่าการตลาด ซึ่งเราเสียเยอะมาก"นายวิเชียร กล่าว
ขณะเดียวกัน เอไอเอสมีลูกค้า 3G บนคลื่นใหม่ จำนวน 2 ล้านรายในปัจจุบัน โดยส่วนใหญ่เป็นลูกค้าเดิมของเอไอเอสโอนย้ายเข้ามา แม้คณะกรรมการบริษัทและผู้บริหารจะไม่ค่อยพอใจกับตัวเลขดังกล่าว แต่ก็มั่นใจว่าถึงสิ้นปี 56 เอไอเอสน่าจะมีจำนวนลูกค้าได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ 8-10 ล้านราย
ส่วนการปรับลดราคาค่าบริการ 3G คลื่นใหม่ นายวิเชียร กล่าวว่า บริษัทได้พยายามทำตามกฎเกณฑ์ที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.)กำหนด และทุกบริษัทแข่งขันกัน อย่างน้อยต้องการรักษาฐานลูกค้าเดิมของตนไว้ก่อนที่จะชิงลูกค้ารายอื่น และเชื่อว่าราคาค่าบริการ 3G คลื่นใหม่จะปรับลดตามกลไกตลาดเอง
*ไม่ยอมพลาดโอกาสตั้งกองทุน Infra หากคู่แข่งทำได้
นายวิเชียร กล่าวว่า บริษัทสนใจจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน แต่ต้องรอผลการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานของ TRUE ว่าเป็นอย่างไร เพราะหาก TRUE สามารถจัดตั้งได้โดยนำเสาสัญญาณโทรคมนาคม ย่านคลื่นความถี่ 1,800 MHz นำมาเป็นสินทรัพย์ในกองทุนดังกล่าว บริษัทก็น่าจะทำได้เช่นกัน
เนื่องจากเสาโทรคมนาคมทั้งของ TRUE และ ADVANC ดังกล่าว อยู่ภายใต้สัญญาสัมปทานลักษณะ BTO ซึ่งไม่ใช่เจ้าของ เพราะเมื่อสิ้นสุดสัญญาต้องโอนย้ายให้กับคู่สัญญา แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการตีความกฎหมายว่าเสาโทรคมนาคมเป็นของใคร
"ถ้า(TRUE) ชนะ เราก็ขอสงวนสิทธิ์ที่จะไม่ส่งมอบ(เสาโทรคมคม)...เราก็สนใจตั้งกองทุน Infrastructure Fund"นายวิเชียร กล่าว
นอกจากนี้ นายวิเชียร ยังกล่าวว่า ได้เสนอกับทาง กสทช. ให้นำคลื่น 900 MHz ประมูลพร้อมกับคลื่น 1800 MHz ไปในคราวเดียวกัน เพื่อผู้ประกอบการจะได้วางแผนธุรกิจได้ล่วงหน้า และประหยัดงบการประมูลและคุ้มครองเยียวยาผู้ใช้บริการ หลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน แต่ทั้งนี้ ขึ้นกับการตัดสินใจของ กสทช.
ปัจจุบัน เอไอเอสใช้คลื่นความถี่ 900 MHz ดำเนินการอยู่ มีจำนวน 17.5 MHz โดยจะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานใน ก.ย. ปี 58 โดยมีจำนวนเสาโทรคมนาคมกว่า 1.4 หมื่นต้น เป็นคู่สัญญากับ บมจ.ทีโอที
ขณะที่บริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท ใช้คลื่นความถี่ 1800 MHz จำนวน 12.5 MHz ซึ่งจะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในก.ย. 56 เช่นเดียวกับ TRUE ที่ใช้คลื่น 1800 MHz จำนวน 12.5 MHz สิ้นสุดสัญญา ก.ย. 56 ทั้งสองรายเป็นคู่สัญญากับ บมจ.กสท โทรคมนาคม