พร้อมกันนี้ ยังมองธุรกิจการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในพม่า เนื่องจากพม่าขาดแคลนไฟฟ้าจำนวนมาก และกำลังมีการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งจะทำให้มีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น รวมทั้งทำการศึกษาการเพิ่มศักยภาพโรงกลั่นน้ำมันในพม่า ซึ่งมีขนาดเล็กที่มีอยู่หลายโรงในปัจจุบันว่าจะสามารถพัฒนาปรับปรุงให้เป็นโรงกลั่นขนาดใหญ่ หรือเป็นโรงกลั่นที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้หรือไม่
ส่วน บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) หรือ ปตท.สผ. เองก็มีแผนที่จะสำรวจแหล่งปิโตรเลียมบนบกที่ได้รับสัมปทานจากพม่าในเร็วๆ นี้อีกด้วย เมื่อการลงทุนทางด้าน Upstream ที่ลงทุนไปมีความก้าวหน้า ประกอบกับการลงทุนในธุรกิจอื่นๆ ที่ ปตท.วางแผนการลงทุนในอนาคตที่กล่าวมา คาดว่า ปตท.จะลงทุนเพิ่มในพม่าอีกหลายพันล้านเหรียญสหรัฐ
อย่างไรก็ดี พื้นที่เป้าหมายการลงทุนของ ปตท.มีหลายพื้นที่ แต่พื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญของพม่าจะอยู่บริเวณลุ่มน้ำอิระวดี ประมาณ 70% ซึ่ง ปตท.จะเน้นการเข้าไปลงทุนในพื้นที่นี้เป็นพิเศษ
ทั้งนี้ พม่าถือเป็นประเทศหลักและเป็นยุทธศาสตร์หลักในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมา ปตท.สผ.ได้ลงทุนด้านการขุดเจาะ สำรวจ และพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมมากกว่า 20 ปีแล้ว และ ปตท.เป็นผู้ซื้อก๊าซธรรมชาติรายเดียวจากแหล่งยาดานา และเยตากุนในพม่า และเร็วๆ นี้จะมีแหล่งปิโตรเลียมที่ 3 คือ ซอติก้า (Zawtika) ที่ ปตท.สผ.เป็นผู้พัฒนาจะเริ่มผลิตและส่งก๊าซฯ กลับเข้ามาประเทศไทย
"ที่ผ่านมา ปตท.สผ.ได้ลงทุนในพม่าแล้วหลายพันล้านเหรียญสหรัฐ" นายไพรินทร์ กล่าว