ทั้งนี้ กมธ.ป.ป.ช.จะรอคำชี้แจงจากนายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุด ในฐานะกรรมการอิสระและประธานกรรมการตรวจสอบ ปตท.ที่จะมีการประชุมกรรมการตรวจสอบ ปตท.ในประเด็นดังกล่าวในวันที่ 12 ก.ค.นี้ หลังจากนายไพรินทร์ เข้าไปรับตำแหน่งใน F&N เนื่องจากต้องการนำระบบการทำงานและการบริหารของบริษัทอินเตอร์มาปรับปรุงใช้กับเครือปตท.แต่เมื่อมีข้อท้วงติงดังกล่าวทำให้นายไพรินทร์ตัดสินใจลาออกจาก F&N ทันที
"หากได้ข้อสรุปว่านายไพรินทร์ขาดคุณสมบัติเนื่องจากกระทำผิด พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 จริง นายไพรินทร์ก็จะต้องดำเนินการปลดออก หรือไล่ออกจะทำให้ไม่สามารถดำรงตำแหน่งในรัฐวิสาหกิจภายใน 3 ปี แต่ถ้าลาออกเองก็สามารถสมัครชิงตำแหน่งซีอีโอ ปตท.ได้อีก"กมธ.ป.ป.ช. กล่าว
นอกจากนี้ ยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับนิติกรรมต่างๆที่นายไพรินทร์ดำเนินการในช่วงที่ผ่านมาด้วยว่าจะมีผลบังคับใช้หรือไม่อย่างไร หากคณะกรรมการ ปตท.มีมติว่าขาดคุณสมบัติการดำรงตำแหน่ง
นายธีระชาติ กล่าวว่า การเข้าไปรับตำแหน่งกรรมการอิสระ F&N ของนายไพรินทร์ น่าจะขัดต่อ พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2518 ที่ห้ามผู้บริหารรัฐวิสาหกิจเป็นกรรมการหรือที่ปรึกษาทำงานให้บริษัทอื่น เว้นแต่ประธานกรรมการบริษัทมอบหมาย และการดำเนินธุรกิจของปตท.ไม่ได้มีธุรกิจเฉพาะน้ำมันปิโตรเคมีเท่านั้น แต่ยังมีธุรกิจร้านกาแฟอเมซอน ซึ่งอาจจะเกิดการขัดกันของผลประโยชน์(Conflict Of Interest)กับธุรกิจของ F&N ได้
แม้ว่านายไพรินทร์จะลาออกจากตำแหน่งกรรมการอิสระ F&N แล้วก็ตาม แต่ก็ถือว่ากระทำผิดไปแล้ว ขณะเดียวกัน ทาง กมธ.ป.ป.ช.จะทำหนังสือขอดูสัญญาการว่าจ้างนายไพรินทร์จาก ปตท. และตรวจสอบข้อมูลเรื่องดังกล่าวว่ามีหลักฐานมากน้อยแค่ไหน พร้อมกับระบุว่าหากคณะกรรมการ ปตท.ไม่ดำเนินการมใด ๆ ในเรื่องนี้ ก็จะถือว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งมีความผิดอาญา